บทคัดย่องานวิจัย

การลดความชื้นวิธีต่าง ๆ ก่อนการนวดในการผลิตเมล็ดพันธ์ถั่วเหลืองที่ปลูกต้นฤดูฝน

วรพงศ์ วิมลพันธ์

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2537. 89 หน้า.

2537

บทคัดย่อ

การลดความชื้นวิธีต่าง ๆ ก่อนการนวดในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่ปลูกต้นฤดูฝน

การศึกษาวิธีการลดความชื้นก่อนการนวดของถั่วเหลืองพันธุ์สุโขทัย 1. ที่ปลูกต้นฤดูฝน เพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ได้กระทำ 2 ปีการเพาะปลูก คือ ปีการเพาะปลูก 2535 ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม และปีการเพาะปลูก 2536 ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน ที่สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วางแผนการทดลองแบบ Ramdomized Complete Block Design มี 4 ซ้ำ โดยมีกรรมวิธีการทดลองคือ การปล่อยให้ถั่วเหลืองแห้งในแปลงแล้วจึงเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองที่ระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา (P.M.) แล้วกองเป็นกระโจมโดยเอาส่วนยอดกลับลงและตากทิ้งไว้ให้แห้งในแปลง การเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองที่ระยะ P.M. แล้วนำเข้าร่มนำออกตากเมื่อมีแดด การใช้สาร paraquat 90 กรัม (สารออกฤทธิ์) ฉีดพ่นถั่วเหลืองที่ระยะ P.M. แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งในแปลงจึงเก็บเกี่ยวและการใช้สาร paraquat 90 กรัม (สารออกฤทธิ์) ฉีดพ่นถั่วเหลืองที่ระยะ P.M. แล้วปล่อยทิ้งไว้ 2 วันจึงเก็บเกี่ยวแล้วนำเข้าร่มนำออกตากเมื่อมีแดด

ผลจากการศึกษาทั้ง 2 ปีการเพาะปลูก ชี้ให้เห็นว่าในด้านความรวดเร็วของการลดความชื้นของเมล็ดถั่วเหลืองจากระยะ P.M. (ประมาณ 50%) สู่ระดับความชื้นที่ 12% ซึ่งเป็นระดับความชื้นที่เหมาะสมสำหรับการนำไปนวด ซึ่งวิธีการลดความชื้นโดยการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองที่ระยะ P.M. แล้วนำเข้าร่มนำออกตากเมื่อมีแดดเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด โดยที่วิธีการนี้ใช้ระยะเวลาในการลดความชื้นเพียง 4.25 และ 6.25 วัน ในปี 2535 และ 2536 ตามลำดับ รองลงมาได้แก่ การใช้สาร paraquat ฉีดพ่นแล้วปล่อยทิ้งไว้ 2 วันจึงเก็บเกี่ยวแล้วนำเข้าร่มนำออกตากเมื่อมีแดด ส่วนกรรมวิธีอื่น ๆ ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่า

ในด้านคุณภาพของเมล็ดพันธุ์หลังจากนวดแล้ว พบว่า การใช้สาร paraquat ฉีดพ่นแล้วปล่อยทิ้งไว้ 2 วัน จึงเก็บเกี่ยวแล้วนำเข้าร่มนำออกตากเมื่อมีแดด และการเก็บเกี่ยวแล้วนำเข้าร่มนำออกตากเมื่อมีแดดให้ผลดีที่สุด โดยที่เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่ได้จากทั้ง 2 กรรมวิธีนี้มีเปอร์เซนต์ความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดที่สูงกว่ากรรมวิธีอื่น ๆ กล่าวคือ กรรมวิธีการใช้สาร paraquat ฉีดพ่นแล้วปล่อยทิ้งไว้ 2 วัน จึงเก็บเกี่ยวแล้วนำเข้าร่มนำออกตากเมื่อมีแดดให้เปอร์เซนต์ความงอกสูงถึง 85.00 % และ 77.75 % และกรรมวิธีการเก็บเกี่ยวแล้วนำเข้าร่มนำออกตากเมื่อมีแดดมีเปอร์เซนต์ความงอก 83.00 % และ 79.75 % ในปีเพาะปลูก 2535 และ 2536 ตามลำดับ ในขณะที่กรรมวิธีอื่น ๆ มีเปอร์เซนต์ความงอกเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้แล้วในด้านของเปอร์เซนต์เมล็ดเสียนั้นก็พบว่า ทั้ง 2 กรรมวิธีดังกล่าว มีเปอร์เซนต์เมล็ดเสียต่ำกว่ากรรมวิธีอื่น ๆ คือ กรรมวิธีการใช้สาร paraquat ฉีดพ่นแล้วปล่อยทิ้งไว้ 2 วัน จึงเก็บเกี่ยวแล้วนำเข้าร่มนำออกตากเมื่อมีแดดให้เปอร์เซนต์เมล็ดเสีย 19.23 % และ 32.94 % และกรรมวิธีการเก็บเกี่ยวแล้วนำเข้าร่มนำออกตากเมื่อมีแดดให้เปอร์เซนต์เมล็ดเสีย 22.69 % และ 33.71 % ในขณะที่ กรรมวิธีการปล่อยให้ถั่วเหลืองแห้งในแปลงให้เปอร์เซนต์เมล็ดเสียสูงถึง 34.56 % และ 52.90 % ในปี 2535 และ 2536 ตามลำดับ สาเหตุที่ทำให้เมล็ดถั่วเหลืองที่ได้จากรรมวิธีการปล่อยให้ถั่วเหลืองแห้งในแปลง การเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองที่ระยะ P.M. แล้วกองเป็นกระโจมโดยเอาส่วนยอดกลับลงแล้วตากทิ้งไว้ให้แห้งในแปลง และกรรมวิธีการใช้สาร paraquat ฉีดพ่นถั่วเหลืองที่ระยะ P.M. แล้วปล่อยให้แห้งในแปลง มีคุณภาพต่ำและมีเปอร์เซนต์เมล็ดเสียสูง เนื่องมาจากหลังจากที่ถั่วเหลืองเจริญเติบโตถึงระยะ P.M. แล้ว ต้นถั่วเหลืองของทั้ง 3 กรรมวิธีถูกปล่อยทิ้งไว้ในแปลงอันเป็นสาเหตุให้ฝักและเมล็ดได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากได้รับความชื้นจากฝนที่ตกลงมาสลับกับแสงแดด ซึ่งผลจากการวัดการเข้าทำลายของเชื้อราก็พบว่า ทั้ง 3 กรรมวิธีดังกล่าว มีการเข้าทำลายของเชื้อราในอัตราที่สูงกว่า ในด้านผลตอบแทนนั้นพบว่า กรรมวิธีการเก็บเกี่ยวแล้วนำเข้าร่มนำออกตากเมื่อมีแดดให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่อไร่สูงที่สุด