ผลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อการควบคุมการเน่าเสียเนื่องจากเชื้อ Colletotrichum gloeosporioides ของผลมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว
ธิติมา วงษ์ชีรี
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2538. 93 หน้า
2538
บทคัดย่อ
จากการทดสอบการเจริญของเส้นใยเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides บนอาหาร PDA ในสภาพบรรยากาศที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น 50 และ 100 % ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พบว่าเส้นใยของเชื้อรามีการเจริญช้าลงเมื่อเพิ่มระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้น อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่นำเชื้อรามาไว้ในสภาพอากาศปกติประมาณ 24 ชั่วโมงก็สามารถเจริญได้ในอัตราปกติ
การเจริญของ germ tube จากสปอร์ของเชื้อรา C. gloeosporioides ในสภาพบรรยากาศที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น 20 และ 50% จะเจริญช้ากว่าในสภาพบรรยากาศปกติ แต่ไม่มีผลกับเปอร์เซ็นต์การงอกของสปอร์ โดยสปอร์สามารถงอกได้เกือบทั้งหมดภายหลังบ่มเชื้อนาน 10 – 12 ชั่วโมง ในขณะที่สปอร์ที่อยู่ในสภาพก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 100% สปอร์ไม่มีการงอกเลยจนกระทั่งสิ้นสุดการทดลอง การให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น 20 และ 50% มีผลกระตุ้นให้ germ tube สร้าง appressorium เพิ่มขึ้น
สำหรับการให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้น 100% เป็นเวลานาน 24 ชั่วโมงกับสปอร์ของเชื้อรา C. gloeosporioides แล้วนำมาไว้ในสภาพบรรยากาศปกติ พบว่าสปอร์สามารถงอกได้ภายในเวลา 4 ชั่วโมง แต่จะมีการเจริญของ germ tube และการสร้าง appressorium น้อยกว่า สปอร์ในชุดควบคุมที่ไม่ผ่านก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
การศึกษาของของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อการควบคุมการเน่าเสียเนื่องจากเชื้อ C.
gloeosporioides บนผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ระยะแก่เขียว พบว่าการใช้ก๊าซที่ระดับความเข้มข้น 20% นาน 24 ชั่วโมง สามารถควบคุมการเน่าเสียจากโรคแอนแทรกโนสได้ โดยผลมะม่วงมีการพัฒนาอาการของโรคช้ากว่าผลที่ไม่ได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ในการตรวจสอบสารที่มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญของเชื้อรา Cladosporium cladosporioides จากการแยกสารสกัดที่ผิวมะม่วงด้วยวิธี TLC-bioassay พบว่ามีแถบสารที่มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญของเชื้อราหลายแถบ แต่ที่ปรากฏเห็นชัดเจนที่สุดคือที่ Rf = 0.21 โดยสารสกัดจากเปลือกผลมะม่วงที่ได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 20% นาน 24 ชั่วโมง มีความกว้างของแถบสารที่เชื้อราเจริญไม่ได้มากที่สุด ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับชุดการทดลองอื่น ๆ