บทคัดย่องานวิจัย

แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อคาดคะเนอัตราการหายใจและสภาพบรรยากาศภายในบรรรจุภัณฑ์ของผลมะม่วงที่ห่อหุ้มด้วยพลาสติกฟิล์มเจาะรู

รัตนพล พนมวัน ณ อยุธยา

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541. 65 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อคาดคะเนอัตราการหายใจ และสภาพ บรรยากาศภายในบรรจุภัณฑ์ของผลมะม่วงที่หุ้มห่อด้วยพลาสติกฟิล์มเจาะรู

อัตราการผลิต CO2 ของผลมะม่วงภายใต้สภาพบรรยากาศที่ดัดแปลงในบรรจุภัณฑ์ สามารถหาได้โดย differentiate สมการ ของการเพิ่มขึ้นของปริมาณ CO2 ตามเวลา ในภาชนะปิด ที่อุณหภูมิ 13o C, 20o C และอุณหภูมิห้อง (27 - 34o C) การทดลองพบว่าสมการการสะสมเพิ่มขึ้นของ CO2 ในภาชนะปิดเป็นแบบ hyperbolic ทั้ง 3 อุณหภูมิ อัตราการผลิต CO2 ของผลมะม่วงที่ได้พบว่าแปรผันกับกำลังสองของ In(O2) ส่วนการคำนวณเพื่อคาดคะเนระดับ CO2 ในภาชนะบรรจุผลมะม่วง ได้จากผลต่างระหว่างอัตราการผลิต CO2 ของผลมะม่วงภายใต้สภาพบรรยากาศดัดแปลง และอัตราการแพร่ผ่านของก๊าซผ่านฟิล์มและรู การคาดคะเนระดับ CO2 ดังกล่าว พบว่า ได้ผลใกล้เคียงกับระดับที่วัดได้ในบรรจุภัณฑ์ที่ 13o C และ 20o C แต่ต่ำกว่าที่อุณหภูมิห้อง

สำหรับการหาอัตราการสูญเสียน้ำหนักของผลมะม่วงในภาชนะบรรจุ ได้จากการนำผลมะม่วงมาวัดอัตราการสูญเสียน้ำหนักในภาชนะบรรจุห่อฟิล์ม PE เจาะรูขนาดพื้นที่ 1.6 cm2, 5.6 cm2, 12.1 cm2 และ 20.1 cm2 แล้วทิ้งไว้ในสภาพควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ที่ 50%, 60%, 82% และ 95% อุณหภูมิ 25oC อัตราการสูญเสียน้ำหนักที่ได้จากการทดลองพบว่า ขึ้นกับพื้นที่รู ตามลักษณะสมการ hyperbolic จากความสัมพันธ์นี้เมื่อนำไปสร้างสมการทางคณิตศาสตร์เพื่อคาดคะเนอัตราการสูญเสียน้ำหนักของผลมะม่วงในภาชนะบรรจุ พบว่าสามารถคาดคะเนอัตราการสูญเสียน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์เจาะรูของการทดลองที่มีระดับความชื้นสัมพัทธ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนั้นจากผลการทดลองพบว่าการเจาะรูขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยลดระดับของ CO2 ในภาชนะบรรจุ โดยระดับของ CO2 ที่พบในภาชนะเจาะรูขนาด 0.08 cm2 , 0.24 cm2 และ 0.48 cm2 เป็น 9.62%, 8.43% และ 5.28% ตามลำดับ ที่อุณหภูมิห้อง (27 - 34oC) โดยมีลักษณะเดียวกับที่อุณหภูมิเก็บรักษา 13o C และ 20o C การเพิ่มขึ้นของขนาดรูยังช่วยเพิ่มอัตราการพัฒนาสีผิว และสีเนื้อของผลมะม่วง โดยอัตราการพัฒนาของสีทั้งสอง พบว่า แปรผันตรงกับค่า log ของพื้นที่รู เจาะบนภาชนะบรรจุ