การปรับปรุงเครื่องอบแห้งลำไยแบบไม่แกะเปลือก
วีระ ฟ้าเฟื่องวิทยากุล
วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.78 หน้า.
2541
บทคัดย่อ
การศึกษาแนวทางการปรับปรุงเครื่องอบแห้งลำไยแบบไม่แกะเปลือก จากเครื่องอบแห้งแบบไต้หวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาความสะดวกในการใช้งาน เปรียบเทียบคุณภาพ และประเมินความคุ้มค่าในการปรับปรุงวิธีการกลับลำไยในระหว่างการอบที่ใช้ในปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบคุณภาพลำไยหลังอบในแง่ เปอร์เซ็นต์ความชื้น สี Water activity (Aw) รสชาติเนื้อสัมผัสและความพอใจของผู้บริโภคการทดลองแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน
ตอนที่ 1 ทดสอบเปรียบเทียบระหว่างวิธีการกลับแบบเดิมที่เกษตรกรใช้อยู่ในปัจจุบันกับวิธีการแบบใหม่ของเครื่องอบแห้งที่ทำการออกแบบปรับปรุงกระบะอบเพื่อพัฒนากรรมวิธีการกลับ โดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design มีวิธีการกลับ 3 ช่วงเวลาเป็น treatment ทำการทดลอง 3 ซ้ำ ในการทดลองนี้การอบแต่ละครั้งจะบรรจุลำไย 2,000 กิโลกรัมสด ความหนาของชั้นลำไยในขณะอบประมาณ 60 เซ็นติเมตร อัตราการไหลของอากาศและอุณหภูมิที่ใช้ในการอบแห้ง 0.8 เมตร3/วินาที (ความเร็วลม 0.7 เมตร/วินาที) และ 75-80 องศาเซลเซียส ตามลำดับ จากผลการทดลองพบว่าในการปรับปรุงกรรมวิธีการกลับในระหว่างการอบ ทำให้มีความสะดวก และมีความคล่องตัวในการทำงานมากกว่าเดิม สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้เวลาในการกลับน้อยลง คุณภาพลำไยมีความสม่ำเสมอและไม่แตกต่างจากแบบเดิมค่าใช้จ่ายในการผลิตลำไยอบแห้งต่อครั้งน้อยกว่าวิธีการเดิม โดยเฉพาะในส่วนของค่าแรงงานในการกลับและราคาเครื่องเริ่มต้น ดังนั้น ถ้าเกษตรกรลงทุนปรับปรุงเครื่องที่มีอยู่แล้ว จะสามารถคืนทุนภายในเวลา 6 ปี โดยคิดว่าเครื่องปรับปรุงสามารถลดค่าแรงได้ 1,200 บาทต่อปีต่อเครื่อง (อบ 10 ครั้งต่อปีต่อเครื่อง) โดยคิดค่าดัดแปลงเครื่องละ 7,200 บาท
ตอนที่ 2 ศึกษาหาช่วงเวลาในการกลับลำไยที่เหมาะสม โดยใช้เครื่องอบแห้งจำลอง อบแห้งจำลองอบครั้งละประมาณ 60 กิโลกรัม ที่ความหนาของชั้นลำไย 60 เซ็นติเมตร อัตราเร็วของอากาศ 0.6 เมตรต่อวินาที อุณหภูมิ 60-65 องศาเซลเซียส ความชื่นเริ่มต้นของผลลำไยสดประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ มาตรฐานเปียก ความชื้นเฉลี่ยทั้งผลภายหลังการอบแห้งประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ มาตรฐานเปียก ใช้เวลาในการอบประมาณ 48-53 ชั่วโมงต่อการอบหนึ่งครั้ง พบว่าลำไยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2.52 เซ็นติเมตร (เกรด AA) อบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ช่วงเวลากลับที่เหมาะสมอยู่ที่ 12 ชั่วโมง และเมื่ออบที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส ช่วงเวลากลับที่เหมาะสมอยู่ที่ 6 ชั่วโมง สำหรับลำไยเกรดคละ AB (คละเกรดระหว่างเกรด A เส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 2.51-2.21 เซ็นติเมตร กับเกรด B เส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 2.20-1.94 เซ็นติเมตร อย่างละครึ่ง) ช่วงเวลากลับที่เหมาะสมอยู่ที่ 6 ชั่วโมงทั้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส