อิทธิพลของความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิและการใช้สารเคมีควบคุมเชื้อราระหว่างการเก็บรักษาที่มีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น
สุพรรณ ปัญญาฟู
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2540. 109 หน้า.
2540
บทคัดย่อ
จากการศึกษาอิทธิพลของความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิและการใช้สารเคมีควบคุมเชื้อราระหว่างการเก็บรักษาที่มีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นพันธุ์ซาซานิชิกิที่เก็บเกี่ยวในฤดูนาปี 2538 และฤดูนาปรังปี 2539 พบว่าการเก็บรักษาเมล็ดข้าวที่ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิและระยะเวลาการเก็บรักษาต่างกันจะทำให้ความชื้นของเมล็ด เปอร์เซ็นต์ความงอกและปริมาณการเกิดเชื้อราบนเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยการเก็บรักษาในเดือนแรกที่อุณหภูมิ 23 และ 30oซ ทุกความชื้นสัมพัทธ์ เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดมากกว่า 90% ยกเว้นที่อุณหภูมิ 37oซ เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำกว่าทั้งสองอุณหภูมิ และเมื่อระยะเวลาการเก็บรักษานานขึ้นทุกสภาพการเก็บรักษา มีเปอร์เซ็นต์ความงอกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ความชื้นสัมพัทธ์ 90% ซึ่งในเดือนที่ 3 ที่อุณหภูมิ 37oซ เมล็ดไม่งอกเลย นอกจากนี้ยังพบว่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ยังมีผลต่อการเกิดเชื้อราระหว่างการเก็บรักษา คือ เมื่อระยะเวลาการเก็บรักษาเพิ่มขึ้น เชื้อราที่ติดมาจากแปลงจะมีปริมาณลดลง ในขณะที่เชื้อราในโรงเก็บมีปริมาณเพิ่มขึ้นในทุกสภาพการเก็บรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ความชื้นสัมพัทธ์ 90% และจากการทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมีฆ่าเชื้อราในห้องปฏิบัติการ พบว่าสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคที่ทำให้สีของเมล็ดเปลี่ยนไปได้ 100% ได้แก่ สาร Dithane M-45 ในอัตรา 400 ppm ซึ่งเมื่อนำสารนี้มาคลุกเมล็ดพข้าวญี่ปุ่นที่เก็บเกี่ยวในฤดูนาปรังปี 2539 แล้วเก็บรักษาในสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อรา พบว่า ภายใน 10 วันแรกของการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 37oซ ความชื้นสัมพัทธ์ 90% เมล็ดที่คลุกสาร Dithane M-45 ปริมาณ 3 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม และ 6 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม จะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงสุด 84% ในขณะที่ชุดควบคุมมีความงอกเพียง 38.75% และเมื่อระยะเวลาการเก็บรักษานานขึ้นเปอร์เซ็นต์ความงอกลดลง ส่วนปริมาณการเกิดเชื้อรานั้น หลังการเก็บรักษาทุกอุณหภูมินานกว่า 20 วัน พบว่าสารนี้ไม่สามารถควบคุมการเจริญของเชื้อรา Aspergillus sp.; Penicillium sp. และ Fusarium sp. แต่สามารถควบคุมการเจริญของเชื้อรา Curvularia sp. ได้เป็นอย่างดี