การประเมินความฟ่ามของส้มเขียวหวานพันธ์ฟรีมองต์ด้วยคุณสมบัติทางไฟฟ้า
ประพาพร ฉันทานุมัติ
วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543. 88 หน้า.
2543
บทคัดย่อ
ความฟ่ามเป็นปัญหาสำคัญในการผลิตในการผลิตส้มเขียวหวานพันธุ์ฟรีมองต์ในภาคเหนือของประเทศไทย โดยทำให้คุณภาพการบริโภคและมูลค่าลดลงและยังสังเกตได้ยากจากภายนอก ผลการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการใช้คุณสมบัติทางไฟฟ้าประเมินความฟ่ามของผลส้มเพื่อเป็นพื้นฐานในการวัดคุณภาพแบบไม่ทำลาย คุณสมบัติทางไฟฟ้าที่วัดคือ ความจุไฟฟ้า ความต้านทางและค่าการต้านการไหลของกระแสสลับ (impedance) การวัดใช้ electrode 2 แบบ คือ electrode แบบทำลายและไม่ทำลายผล ในช่วงความถี่ไฟฟ้า 0.01 – 10,000 กิโลเฮิรตซ์ ด้วยเครื่อง Hewlett Packard Impedance Analyzer 4192A การทดลองนี้ใช้ผลส้มจากสวนส้มในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 800 ผล
ผลการศึกษาพบว่า ความจุไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับความฟ่ามมากกว่าความต้านทาน และ impedance อย่างไรก็ดีการใช้ความถี่ไฟฟ้าที่แตกต่างกันมีผลต่อค่าความสัมพันธ์ระหว่าง คุณสมบัติทางไฟฟ้ากับระดับความฟ่าม โดยการวัดความจุไฟฟ้าแบบทำลายด้วย needle electrode แบบไม่กำหนดระยะห่างระหว่างเข็มให้ความสัมพันธ์สูงสุดกับความฟ่ามที่ความถี่ไฟฟ้า 100 กิโลเฮิรตซ์ โดยมีค่าความสัมพันธ์ R2 = 0.801 ขณะที่การวัดความจุไฟฟ้าแบบไม่ทำลายด้วย plate electrode มีความสัมพันธ์สูงสุดกับความฟ่ามที่ความถี่ไฟฟ้า 10,000 กิโลเฮิรตซ์ โดยมีค่าความสัมพันธ์ R2 = 0.54 สำหรับอิทธิพลเปลือกต่อการวัดคุณสมบัติทางไฟฟ้าพบว่า เปลือกมีผลต่อการวัดคุณสมบัติทางไฟฟ้าแบบไม่ทำลายด้วย plate electrode ในช่วงความถี่ต่ำ และมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อความถี่ไฟฟ้ามีค่าสูงขึ้น
การศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า คุณสมบัติทางไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับความฟ่ามอย่างมีนัย สำคัญจากการวัดความจุไฟฟ้าและใช้ needle electrode แบบไม่กำหนดระยะห่างระหว่างเข็มที่ความถี่ 100 กิโลเฮิรตซ์