บทคัดย่องานวิจัย

การตรวจสอบอาการฟ่ามของส้มเขียวหวาน โดยใช้วิธีการส่องผ่านของแสง

วชิราพร เถินมงคล

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2543. 65 หน้า.

2543

บทคัดย่อ

การตรวจสอบอาการฟ่ามของส้มเขียวหวาน โดยใช้วิธีการส่องผ่านของ แสง

อาการฟ่ามเป็นปัญหาหลักที่พบในส้มเขียวหวานพันธุ์ฟรีมองต์ ซึ่งอาการดังกล่าวสังเกตได้ยากจากลักษณะภายนอกของผล วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการตรวจสอบอาการฟ่ามแบบไม่ทำลายผลด้วยแสง

อุปกรณ์ในการส่องแสงที่สร้างขึ้น ประกอบด้วยวัสดุสะท้อนแสงที่บุอยู่ภายในกล่องส่องแสงรูปสี่เหลี่ยม (40´ 45´ 40 ซม.) ที่ด้านล่างของกล่องติดหลอดกำเนิดแสง วัสดุสะท้อนแสงที่ใช้ได้แก่ แผ่นอะลูมิเนียมฟอยล กระดาษขาวและไม้อัดสีน้ำตาล หลอดกำเนิดแสงที่ใช้ ได้แก่ หลอด Halogen 50 วัตต์ 300 วัตต์และ 500 วัตต์ หลอด Spotline 100 วัตต์ หลอด Superlux 100 วัตต์ และหลอด Filament 60 วัตต์ หลอดกำเนิดแสงจะให้แสงจากด้านล่างของผล และวัดความเข้มแสงที่ส่องทะลุผ่านผลส้มโดยวางให้ขั้วผลหรือก้นผลอยู่ด้านบน ค่าความเข้มแสงที่วัดได้นำมาคำนวณเป็นค่าการดูดกลืนแสงของผลส้ม การวัดแสงทั้งหมดทำในห้องมืด ผลส้มฟรีมองต์ที่ใช้ จำนวน 600 ผล ได้มาจากสวนส้มในจังหวัดเชียงใหม่ ผลส้มที่ผ่านการวัดแสงนำมาผ่าประเมินความฟ่ามเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์ความฟ่ามกับค่าการดูดกลืนแสง ความถ่วงจำเพาะเปอร์เซ็นต์น้ำคั้นและปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้

ผลจากการศึกษาพบว่าเมื่อใช้วัสดุสะท้อนแสงเพื่อเพิ่มแสงสว่างภายในกล่องวัด แผ่นอะลูมิเนียมฟอยลให้ความสว่างมากกว่ากระดาษขาวและไม้ โดยมีค่าความเข้มแสง 60 47 และ 43 กิโลลักซ์ ตามลำดับ การศึกษาหลอดกำเนิดแสงที่เหมาะสม พบว่า หลอด Halogen 500 วัตต์ มีค่าความเข้มแสงมากกว่า หลอด Halogen 300 วัตต์ หลอด Spotline 100 วัตต์ หลอด Superlux 100 วัตต์ หลอด Halogen 50 วัตต์ และหลอด Filament 60 วัตต์ โดยวัดความเข้มแสงได้ 60 39 22 11 6.5 และ 1.3 กิโลลักซ์ ตามลำดับ การวัดแสงที่บริเวณก้นผลให้ค่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าการดูดกลืนแสงกับเปอร์เซ็นต์ความฟ่ามดีกว่าเมื่อวัดที่บริเวณขั้วผล โดยมีค่า R2 = 0.801 และ 0.715 ตามลำดับ การใช้หลอด Halogen 500 วัตต์ โดยปรับความเข้มแสงที่ 47 20 4.9 และ 6.2 กิโลลักซ์ พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างค่าการดูดกลืนแสงกับเปอร์เซ็นต์ความฟ่าม โดยมีค่า R2 = 0.725 0.707 0.663 และ 0.640 ตามลำดับ ผลจากการศึกษาอิทธิพลของสีเปลือกและเมื่อแกะเปลือกออกแล้วนำไปส่องแสง พบว่าแสงสามารถทะลุผ่านออกมาได้มากเมื่อเปลือกมีสีส้มและเมื่อแกะเปลือกออก ส่วนค่าความถ่วงจำเพาะ เปอร์เซ็นต์น้ำคั้นและปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้มีค่าลดลงเมื่อเปอร์เซ็นต์ความฟ่ามเพิ่มมากขึ้น