บทคัดย่องานวิจัย

ผลของความชื้นและอุณหภูมิในการบ่มต่อสีและคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

ปาริชาติ เทียนจุมพล

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2542. 135 หน้า.

2542

บทคัดย่อ

ผลของความชื้นและอุณหภูมิในการบ่มต่อสีและคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลือง

การศึกษาอิทธิพลของความชื้นและอุณหภูมิในการบ่มถั่วเหลืองที่มีต่อสีและคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โดยได้ทำการศึกษากับถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ (60 (ชม.60) ที่ปลูกในฤดูแล้ง ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนปีเพาะปลูก 2541 ที่แปลงทดลองของภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วางแผนการทดลองแบบ split split split plot ใน Randomized Complete Block Design มี 3 ซ้ำ กำหนด main plot คือ การเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองที่ระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา และหลังสุกแก่ทางสรีรวิทยา 10 วัน sub plot คือสีผัก 2 สี ได้แก่ สีเขียว และสีเหลือง sub-sub plot คือ ความชื้นของผัก ได้แก่ 24 %, 19 % และ 14 % และ sub-sub-sub plot คือ อุณหภูมิ 4 ระดับ คือ อุณหภูมิห้อง (25oC), 32oC, 39oC และ 46oC ภายหลังจากบ่มฝักภายใต้อุณหภูมิต่าง ๆ เป็นเวลา 4 วัน จึงนำฝักไปตากเป็นเวลา 3 วัน และกระเทาะเปลือกด้วยมือ จากนั้นนำเมล็ดมาทดสอบ โดยการวัดสีด้วยเครื่องวัดสีซึ่งประกอบด้วยค่า a b และ L ค่า a เป็นค่าแสดงสีเขียวในเมล็ด ค่า b แสดงสีเหลืองในเมล็ดและค่า L เป็นค่าวัดความสว่างของสีเมล็ด วิเคราะห์ปริมาณคลอโรฟีลล์ด้วยวิธีของ Arnon นอกจากนี้ก็ทำการหาเปอร์เซ็นต์เมล็ดเขียว ความชื้น น้ำหนัก 100 เมล็ด ความงอก ความแข็งแรง

ผลการศึกษาพบว่าการปรับความชื้นของฝักถั่วเหลืองมาที่ระดับต่าง ๆ ที่กำหนดนั้น ส่งผลให้สีเขียวของเมล็ดลดลงทั้งในฝักสีเหลืองและสีเขียว ซึ่งแสดงโดยปริมาณคลอโรฟีลล์ เปอร์เซ็นต์ เมล็ดเขียว ลดลงขณะที่ค่า a b และ L เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะใช้ระยะเวลาปรับลดความชื้นต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่า ที่ความชื้นของฝักประมาณ 19 % เมื่อเก็บภายใต้อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียสนั้น สีเขียวในเมล็ดลดลงอย่างรวดเร็ว และเร็วกว่ากรรมวิธีอื่น ๆ ซึ่งปริมาณคลอโรฟีลล์เฉลี่ยเท่ากับ 0.00 ไมโครกรัมต่อกรัมในเวลาเพียง 2 วันแม้ว่ากรรมวิธีนี้สามารถลดสีเขียวในเมล็ดได้ดีกว่ากรรมวิธีอื่นแต่ก็ไม่สามารถกำจัดสีเขียวออกจากเมล็ดได้หมด หากกล่าวถึงคุณภาพเมล็ดจะพบว่าการเก็บเกี่ยวที่ระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยาเมล็ดมีคุณภาพสูงกว่าที่ระยะหลังสุกแก่ทางสรีรวิทยา 10 วัน จะเห็นว่าคุณภาพเมล็ดพันธุ์ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ภายหลังเก็บเกี่ยวแม้สีเขียวในเมล็ดจะลดลงก็ตาม โดยฝักที่มีความชื้นสูงหากบ่มภายใต้สภาพที่มีอุณหภูมิสูงมีผลให้คุณภาพได้แก่ ความงอก ความแข็งแรงของเมล็ดลดลง ซึ่งในที่นี้จะต่ำกว่าการบ่มที่อุณหภูมิต่ำ พิจารณาที่ อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมในการลดสีเขียวของเมล็ดนั้น ความงอกและความแข็งแรงที่อุณหภูมิดังกล่าวค่อนข้างต่ำกว่าที่อุณหภูมิห้อง อย่างไรก็ตามคุณภาพดังกล่าวยังคงสูงกว่ามาตรฐาน โดยมีความงอกเท่ากับ 79.75 % ความแข็งแรงเท่ากับ 37.33 ซึ่งที่อุณหภูมิห้องเท่ากับ 84.27 % และ 39.88 ตามลำดับ ดังนั้น วิธีการลดความชื้นของฝักถั่วเหลืองอย่างช้า ๆ จนกระทั่งความชื้นลดลงระดับหนึ่ง และหลังจากนั้นจึงให้ได้รับอุณหภูมิสูงขึ้น เมล็ดจะมีสีเขียวลดลงและยังคงมีคุณภาพสูง