ประสิทธิภาพของสารสกัดจากเปลือกและเมล็ดในผลลำไยต่อการต้านทานเชื้อโรคหลังการเก็บเกี่ยว
สุภัค มหัทธนพรรค
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2542. 82 หน้า.
2542
บทคัดย่อ
การสกัดสารต้านเชื้อราและแบคทีเรียจากเปลือกและเมล็ดลำไย (Dimocarpus longan Lour.) โดยใช้เอทานอล 95% ในลำไยช่วงอายุการเก็บเกี่ยวต่าง ๆ คือ ก่อนอายุเก็บเกี่ยว 4, 3, 2, 1 สัปดาห์ ที่อายุเก็บเกี่ยว และหลังเก็บเกี่ยว 3 วัน หลังจากระเหยตัวทำละลายออกได้สารสกัดหยาบมีสีเขียวจากเปลือกและสีน้ำตาลจากเมล็ด ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวหนืด
เมื่อนำสารสกัดหยาบทดสอบกับสปอร์เชื้อราทำให้สปอร์เชื้อรา Pestalotiopsis sp. งอก germ tube ผิดปกติและสารยังมีผลกระตุ้นการสร้าง appressorium ในเชื้อรา Colletotrichum sp. อีกทั้งมีผลในการชะลอการงอกของสปอร์เชื้อรา Cladosporium cladosporioides
เมื่อทดสอบสารสกัดหยาบจากเมล็ดบนผลลำไยพบว่าสารสกัดจากเมล็ดหลังเก็บเกี่ยว 3 วัน มีแนวโน้มในการควบคุมโรคดีกว่าสารสกัดจากลำไยช่วงอายุอื่น ๆ แต่ก็ให้ผลไม่แตกต่างกัยชุดควบคุมและการเพิ่มความเข้มข้นของสารสกัดกลับเป็นการเพิ่มความรุนแรงของโรค และเมื่อนำสารสกัดหยาบไปวิเคราะห์โดยวิธี TLC-bioassay โดยใช้ Hexane : Ethylacetate : Methanol ในอัตราส่วน 60 : 40 : 1 เป็น solvent ผลปรากฏว่ามีแถบต้านเชื้อ Cladosporium cladosporioides ที่ช่วง Rf ประมาณ 0-0.1 ทั้งในเปลือกและเมล็ด เมื่อทำให้สารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นโดยใช้ Methanol เป็น solvent พบแถบยับยั้งเชื้อจากสารสกัดในเปลือกที่ช่วง Rf ประมาณ 0.7-0.83 และจากเมล็ดช่วง Rf ประมาณ 0.63-0.83 และพบว่าสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจากเปลือกช่วงอายุก่อนการเก็บเกี่ยว 1 สัปดาห์และสารสกัดจากเมล็ดหลังการเก็บเกี่ยว 3 วัน มีแถบยับยั้งกว้างที่สุด
เมื่อนำสารไปวิเคราะห์โครงสร้างทางวิธีอิเล็คโตรสโคปีดังต่อไปนี้ H1 – NMR, GC-MS, Ir และ UV spectroscopy คาดว่าสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้ออาจเป็นสารพวก aliphatic compounds เมื่อทดสอบกับเชื้อรา Cladosporium cladosporioides, Lasiodiplodia sp. และแบคทีเรีย Erwinia carotovora พบว่ามีค่า Minimum Inhibitory Concentration (MIC) เท่ากันทั้งสามเชื้อคือ 15.5 m g/m l ในเมล็ดและ 35.0 m g/m l ในเปลือก