บทคัดย่องานวิจัย

โรคของผลลำไยพันธุ์ดอก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว

ธิดา ไชยวังศรี

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาชีววิทยา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2535. 134 หน้า.

2535

บทคัดย่อ

โรคของผลลำไยพันธุ์ดอก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว

ทำการเลือกสวนลำไยที่แตกต่างกันจำนวน 4 สวน ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพื่อศึกษาโรคของผลลำไยพันธุ์ดอ (Euphoria longana Lamk.) cv. Daw. ก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว โดยแบ่งเป็นสวนที่มีการจัดการดีจำนวน 2 สวน และสวนที่มีการจัดการไม่ดีจำนวน 2 สวน แต่ละการจัดการมีต้นลำไยอายุ 4-5 ปี และ 10-20 ปี อย่างละ 1 สวน

การศึกษาก่อนการเก็บเกี่ยว พบว่า การปฏิบัติจัดการและอายุของต้นลำไย ไม่มีผลต่อจำนวนดอกร่วงทั้งที่ไม่ได้ผสมและที่ผสมแล้ว รวมทั้งจำนวนผลอ่อนที่ร่วง สำหรับการศึกษาเรื่องโรค พบอาการดอกและผลแห้งเป็นสีน้ำตาล และผลแตก เมื่อแยกเชื้อจากตัวอย่าง พบเชื้อราทั้งหมด รวม 10 ชนิด

หลังการเก็บเกี่ยว พบว่า สวนที่มีการจัดการดีและมีต้นลำไยอายุมาก ให้จำนวนผลและน้ำหนักผลต่อช่อมากกว่าสวนอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อเก็บรักษาผลลำไยในสภาพห้องเย็น ที่อุณหภูมิ 5o C และ 10 o C พบว่า เปลือกของผลลำไยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลภายในเวลา 24-26 วัน และ 10-18 วัน ที่อุณหภูมิ 5o C และ 10 o C ตามลำดับ หลังการเก็บรักษา เมื่อแยกเชื้อจากผลลำไยที่เน่า พบเชื้อรา 10 ชนิด เช่นเดียวกับที่พบก่อนการเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตามมีเชื้อราเพียง 2 ชนิด คือ Alternaria sp. และ Botryodiplodia sp. เท่านั้น ที่สามารถทำให้เกิดแผลสีน้ำตาลบนผลลำไยที่ไม่ได้ทำแผล

การทดสอบการป้องกันกำจัดโรคโดยใช้สารเคมี พบว่า การจุ่มผลลำไยในสารละลายเปโนมิล ความเข้มข้น 1,000 ppm ที่อุณหภูมิที่ 52o C เป็นเวลา 2 นาที ให้ผลในการป้องกันกำจัดโรคได้ดีที่สุด และในสารละลายโปรคลอแรซ ความเข้มข้น 125 ppm ที่อุณหภูมิห้อง ให้ผลในการป้องกันกำจัดโรคได้ดีรองลงมา