ผลของน้ำตาลและอุณหภูมิต่ำต่อการเก็บรักษาช่อดอกแกลดิโอลัส
กาญจน์ ศรีกฤษณ์
วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชสวน)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541. 230 หน้า.
2541
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของน้ำตาลและอุณหภูมิต่ำต่อการเก็บรักษาช่อดอกแกลดิโอลัส ได้ทำกับช่อดอกแกลดิโอลัสพันธุ์ Diablo Fiesta Folcon Golden Age Major League และ Orbiter โดยให้ได้รับสารละลายน้ำตาลเข้มข้น ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลทรายขาว 10 เปอร์เซนต์ 8 - ไฮดรอกซิควินโนลีนซัลเฟต 150 ส่วนต่อล้าน อลูมิเนียมซัลเฟต 300 ส่วนต่อล้าน และ ซิลเวอร์ไนเตรท 30 ส่วนต่อล้าน เป็นเวลานาน 24 ชั่วโมง ก่อนนำไปเก็บรักษาในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 5 10 และ 15 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิห้อง แล้วนำช่อดอกที่เก็บรักษาในกรรมวิธีต่าง ๆ ออกมาศึกษาคุณภาพในการปักแจกันทุก 2 วัน จนครบ 14 วัน ผลการทดลองพบว่า การเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำทุกกรรมวิธีให้ผลดีกว่าการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องซึ่งช่อดอกหมดสภาพการปักแจกันภายใน 2 วัน หลังการเก็บรักษา และพบว่า ถ้าเก็บรักษาไว้ไม่นาน กล่าวคือไม่เกิน 6 วัน จะสามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 5 10 และ 15 องศาเซลเซียส โดยที่ช่อดอกยังคงมีคุณภาพในการปักแจกันเป็นที่ยอมรับ แต่ถ้าเก็บรักษายาวนานกว่านั้นต้องเก็บไว้ที่ 5 องศาเซลเซียส
การศึกษาการปรับปรุงการบานของดอกในช่อดอกแกลดิโอลัสพันธุ์ Vega ที่ได้รับสารละลายน้ำตาลเข้มข้น และเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ดังกรรมวิธีที่กล่าวแล้วข้างต้นเป็นเวลานาน 2-14 วันแล้ว การนำช่อดอกที่เก็บรักษาไว้ออกมาได้รับกรรมวิธีทุก 2 วันหลังการเก็บรักษาพบว่า การปรับปรุงการบานของดอกในแจกันโดยการแช่ก้านช่อดอกในสารละลายกรดซิตริกเข้มข้น 200 400 หรือ 500 ส่วนต่อล้าน โดยอุณหภูมิของสารละลายเป็น 40 องศาเซลเซียส ในขณะเริ่มแช่ก้านช่อดอก และการแช่ก้านช่อดอกในสารละลายน้ำตาลเข้มข้น 2 หรือ 5 เปอร์เซนต์ ร่วมกับ 8 - ไฮดรอกซิควินโนลีนซัลเฟต 150 ส่วนต่อล้าน ให้ผลในการปรับปรุงการบานของดอกในแจกันดีกว่ากรรมวิธีการใช้สารละลาย BA เข้มข้น 10 และ 20 ส่วนต่อล้าน และกรรมวิธีที่ใช้สารละลาย NAA เข้มข้น 10 และ 20 ส่วนต่อล้าน โดยที่การใช้ BA และ NAA ให้ผลไม่แตกต่างจากรรมวิธีควบคุม
การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำตาลในกลีบดอกของดอกย่อยที่อยู่โคนช่อดอก และปลายช่อดอกของแกลดิโอลัสพันธุ์ Golden Age ที่ปักไว้ในแจกันที่มีสารละลายน้ำตาลเข้มข้น 0 5 10 และ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยการวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลซูโรส และปริมาณ reducing suger ในกลีบดอกดังกล่าว พบว่า ปริมาณน้ำตาลในกลีบดอกมีความสัมพันธ์กับการได้รับน้ำตาลจากภายนอก โดยที่ช่อดอกที่ปักไว้ในสารละลายที่ไม่มีน้ำตาลกลีบดอกของดอกในกรรมวิธีนี้มีน้ำตาลทั้ง 2 ชนิดลดลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ปักแจกันไว้ และดอกที่โคนช่อหมดอายุไปในวันที่ 5 ของการปักแจกัน ส่วนช่อดอกที่ได้รับน้ำตาล พบว่า ปริมาณน้ำตาลในกลีบดอกสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และดอกของช่อดอกที่ได้รับสารละลายน้ำตาลที่มีความเข้มข้นสูงกว่ามีปริมาณน้ำตาลในกลีบดอกสูงตามไปด้วย