บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้ระบบความเย็นต่อเนื่องต่อการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของ กระเทียมต้น และปวยเหล็ง

วิลาวัลย์ คำปวน

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาพืชสวน)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2535. 145 หน้า.

2535

บทคัดย่อ

ผลของการใช้ระบบความเย็นต่อเนื่องต่อการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของกระเทียมต้น และปวยเหล็ง

การศึกษาถึงผลของการใช้ระบบความเย็นต่อเนื่องต่อการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของกระเทียบต้นและปวยเหล็ง โดยลดอุณหภูมิด้วยวิธีผ่านอากาศเย็นในห้องเย็นอุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส และไม่ลดอุณหภูมิ แล้วขนส่งจากศูนย์พัฒนาหนองหอยมายังฝ่ายคัดบรรจุโครงการหลวง ภายในบริเวณคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยรถห้องเย็นอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส และรถบรรทุกธรรมดา แล้วให้ผลิตผลค้างอยู่ในรถเป็นเวลา 12 ชั่วโมง (เท่ากับระยะเวลาเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพ) หลังจากนั้นนำมาเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส และที่อุณหภูมิห้อง โดยทำการทดลอง 3 ครั้ง คือ ช่วงเดือนกรกฏาคม 2532 พฤศจิกายน 2532 และมกราคม 2533

ผลการทดลองพบว่าเมื่อเก็บรักษาไว้นานขึ้นผักทั้งสองชนิดมีการเสื่อมคุณภาพมากขึ้น โดยมีการสูญเสียน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น มีน้ำหนักที่ขายได้ และมีปริมาณวิตามินซีลดลง ในการทดลองครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ผักทั้งสองชนิดมีการเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ส่วนการทดลองครั้งที่ 3 ผักทั้งสองชนิดเกิดการเสื่อมสภาพช้ากว่าครั้งที่ 1 และ 2 การเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิต่ำช่วยชะลอการเสื่อมคุณภาพของผักทั้งสองชนิดมากกว่าขั้นตอนอื่น ส่วนการขนส่งมีผลช่วยชะลอการเสื่อมคุณภาพเมื่อเก็บรักษาไว้ในห้องเย็น และไม่มีผลกระทบเลยเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง การลดอุณหภูมิไม่มีผลต่อการเสื่อมคุณภาพของผักทั้ง 2 ชนิด การเก็บรักษาในห้องเย็นทำให้ผักทั้งสองชนิดมีอัตราการหายใจต่ำ และมีการสร้างกาซเอทธิลีนต่ำกว่าที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง

กระเทียมต้นที่ได้รับความเย็นอย่างต่อเนื่องคือ ได้ลดอุณหภูมิ-ขนส่ง โดยรถห้องเย็น-เก็บรักษาในห้องเย็น มีอายุการเก็บรักษาเฉลี่ย 13.0 11.7 และ 13.5 วันในการทดลองครั้งที่ 1 2 และ 3 ตามลำดับ และปวยเหล็งที่ทดลองวิธีเดียวกันมีอายุการเก็บรักษาเฉลี่ย 9.25 11.0 และ 11.2 วันตามลำดับ ส่วนวิธีที่ไม่ได้รับความเย็นเลยคือ ไม่ลดอุณหภูมิ-ขนส่งโดยรถธรรมดา-เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง กระเทียมต้นมีอายุการเก็บรักษาเฉลี่ยนาน 3 3 และ 8 วัน และปวยเหล็งมีอายุการเก็บรักษาเฉลี่ยนาน 1.25 2.25 และ 3.50 วัน ในการทดลองครั้งที่ 1 2 และ 3 ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐกิจเมื่อเก็บรักษาไว้นาน 2 วัน มูลค่าที่ขายได้ของกระเทียมต้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการทดลองครั้งที่ 1 เพียงครั้งเดียว โดกระเทียมต้นที่อยู่ภายใต้ระบบความเย็นอย่างต่อเนื่อง คือ ได้ลดอุณหภูมิ - ขนส่งโดยรถห้องเย็น-เก็บรักษาในห้องเย็นมีมูลค่าที่ขายได้เฉลี่ย 41.3 บาทต่อกิโลกรัมเริ่มต้น และกระเทียมต้นที่ไม่ได้รับความเย็นเลยคือ ไม่ได้ลดอุณหภูมิ-ขนส่งโดยรถธรรมดา-เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง มีมูลค่าที่ขายได้เฉลี่ยเพียง 16.1 บาทต่อกิโลกรัมเริ่มต้น ในการทดลองครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 กระเทียมต้นมีมูลค่าที่ขายได้ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับปวยเหล็งที่ได้รับความเย็นอย่างต่อเนื่อง คือ ได้ลดอุณหภูมิ-ขนส่งโดยรถห้องเย็น-เก็บรักษาในห้องเย็น มีมูลค่าที่ขายได้เฉลี่ย 51.5 24.7 และ 38.0 บาทต่อกิโลกรัมเริ่มต้น และที่ไม่ได้รับความเย็นเลย คือ ไม่ได้ลดอุณหภูมิ-ขนส่งโดยรถธรรมดา-เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง มีมูลค่าที่ขายได้เฉลี่ย 9.58 11.3 และ 27.9 บาทต่อกิโลกรัมเริ่มต้น ในการทดลองครั้งที่ 1 2 และ 3 ตามลำดับ