บทคัดย่องานวิจัย

การเจริญเติบโตของผล ดัชนีการเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวของผลลองกอง

นพรัตน์ พันธุวนิช

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 94 หน้า.

2528

บทคัดย่อ

การเจริญเติบโตของผล ดัชนีการเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวของผลลองกอง

การศึกษาการเจริญเติบโตของผล ดัชนีการเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวของผลลองกอง (Aglaia dokkoo Griff.) โดยทำการศึกษาที่สวนผลไม้ในอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ห้องปฏิบัติการ

สรีรวิทยา ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน และหน่วยวิจัยพืชผลหลังเก็บเกี่ยว ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ระหว่างเดือนมีนาคม 2527 ถึงเดือนมิถุนายน 2528 พบว่าการเจริญเติบโตของผลลองกองเริ่มตั้งแต่ติดผลจนผลแก่เก็บเกี่ยวได้ ใช้เวลา 12-13 สัปดาห์ โดยมีการเพิ่มขนาดและน้ำหนักผลซึ่งเป็นการเจริญเติบโตที่มีรูปแบบเป็น single sigmoid การเจริญเติบโตในส่วนของเปลือกเริ่มตั้งแต่ติดผลจนถึงสัปดาห์ที่ 8 ในเนื้อผลนั้นพบการเจริญเติบโตอย่างชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์ที่ 5 เป็นต้นไป เนื้อผลลองกองมีปริมาณ total soluble solids เพิ่มขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 10 ซึ่งน้ำตาลกลูโคส ฟรุคโตส และซูโครส มีแนวโน้มเริ่มตามปริมาณ total soluble solids และน้ำตาลซูโครสมีปริมาณมากที่สุด ปริมาณกรดทั้งหมดที่ไตเตรทได้ในรูปของกรดซิตริคเพิ่มขึ้นจนถึงสัปดาห์ที่ 10 และมีค่าลดลง เมื่อผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว

ดัชนีการเก็บเกี่ยวของผลลองกองสามารถพิจารณาจากสีเหลืองนวลตลอดช่อผลการแห้งและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลของกลีบเลี้ยง ความนุ่มของผล ลักษณะเนื้อผลที่ขาวใสปริมาณ total soluble solids ปริมาณกรดทั้งหมดที่ไตเตรทได้ในรูปของกรดซิตริค ผลลองกองที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวคือ อายุ 12-13 สัปดาห์ โดยมีค่าปริมาณ total soluble solids และปริมาณกรดทั้งหมดอยู่ระหว่าง 17 ถึง 19% และ 0.7 ถึง 0.8 % ตามลำดับ และอัตราส่วน total soluble solids ต่อ titratable acidity เท่ากับ 18.3 สำหรับปริมาณคลอโรฟิลล์และปริมาณน้ำยางภายในเปลือกผลไม่สามารถใช้เป็นดัชนีการเก็บเกี่ยวได้

ในการปฏิบัติต่อผลลองกองภายหลังเก็บเกี่ยว พบว่าผลลองกองมีการร่วงภายหลังการขนส่งเพิ่มขึ้นตามอายุผลที่มากขึ้น แต่ไม่มีความแตกต่างของปริมาณการร่วมของผลลองกองที่เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 87 และ 91 วัน

ผลลองกองมีอายุการเก็บรักษาได้นาน 3 วันที่อุณหภูมิห้อง (32.5oซ) ความชื้นสัมพัทธ์ 67% ผลลองกองที่เก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุมากขึ้นจะมีแนวโน้มในการลดลงของอายุการเก็บรักษา โดยเกิดจากการสูญเสียน้ำในส่วนของเปลือกทำให้ผลเหี่ยว รวมทั้งการเกิดสีน้ำตาลที่ผิวเปลือก การเปลี่ยนแปลงปริมาณ total soluble solids และปริมาณกรดทั้งหมดที่ไตเตรทได้ในรูปกรดซิตริคภายหลังการเก็บรักษาเป็นเวลา 3 วันมีค่าค่อนข้างคงที่ การเก็บรักษาผลลองกองที่อุณหภูมิ 28.5, 20 และ 15oซ ในตะกร้าพลาสติก ถุงกระดาษปิดปากถุง ถุงพลาสติกปิดปากถุงเจาะรู 6 รู และถุงพลาสติกปิดปากถุงสนิท พบว่าการเก็บรักษาช่อผลลองกองในถุงพลาสติกที่ปิดปากถุง และเจาะรู 6 รู ที่อุณหภูมิ 15oซ ให้ผลดีที่สุด โดยสามารถลดการสูญเสียน้ำหนัก ทำให้เปลือกผลสด เป็นที่ยอมรับของตลาดได้นาน 15 วัน