ผลของความร้อนและแคลเซียมคลอไรด์ต่ออาการสะท้านหนาวของผลมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์
ธเนศวร์ สีระแก้ว
วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชสวน)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541 .125 หน้า.
2541
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของการใช้ความร้อนและแคลเซียมคลอไรด์ต่ออาการสะท้านหนาวของผลมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ โดยใช้อากาศร้อนที่อุณหภูมิ 34 และ 38 องศาเซลเซียส กับผลมะม่วงนาน 24, 48 และ 72 ชั่วโมง และการแทรกซึมด้วยแคลเซียมคลอไรด์ 2.5, 5.0 และ 7.5 เปอร์เซ็นต์ ที่ระดับความดัน 600 และ 450 มิลลิเมตรปรอท ก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส นาน 10, 20 และ 30 วัน ผลการทดลองปรากฏว่า ผลมะม่วงที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 30 วัน จะแสดงอาการสะท้านหนาว คือ ผลมะม่วงมีสีผิวคล้ำกว่าปกติ เนื้อเยื่อของผลเกิดการยุบตัว และเกิดการเน่าเสียมาก การรั่วไหลของสารอีเลคโตรไลท์สามารถบ่งชี้ความรุนแรงของอาการสะท้านหนาวได้ โดยพบว่า การรั่วไหลของสารอีเลคโตรไลท์เพิ่มมากขึ้นเมื่อผลมะม่วงเกิดอาการสะท้านหนาว
ผลมะม่วงที่เกิดอาการสะท้านหนาวมีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่ำ ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้สูง ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสีผิวและสีเนื้อลดลง มีการเกิดโรคมากขึ้น และคุณภาพของผลต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลมะม่วงที่สุกตามปกติที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
การใช้อากาศร้อนที่อุณหภูมิ 34 องศาเซลเซียส นาน 24 หรือ 48 ฃั่วโมง และอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง กับผลมะม่วงก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส นาน 10 และ 20 วัน สามารถชะลออาการสะท้านหนาวของผลมะม่วงได้ แต่ผลมะม่วงมีการสูญเสียน้ำหนักสูงและมีความแน่นเนื้อของผลต่ำกว่าผลมะม่วงที่สุกตามปกติที่อุณหหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
ผลมะม่วงที่ได้รับการแทรกซึมด้วยแคลเซียมคลอไรด์ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ที่ความดัน 600 หรือ 450 มิลลิเมตรปรอท และ 5.0 เปอร์เซ็นต์ ที่ความดัน 600 มิลลิเมตรปรอท ก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส นาน 10 วัน แสดงอาการสะท้านหนาวน้อยลง แต่เมื่อแทรกซึมด้วยแคลเซียมคลอไรด์ความเข้มข้นสูงขึ้น การแทรกซึมด้วยแคลเซียมคลอไรด์ไม่สามารถลดอาการสะท้านหนาวของผลมะม่วงได้ และยังทำให้ผลมะม่วงเกิดความเสียหายมากขึ้น