ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพกับอายุผลเมื่อเก็บเกี่ยวของแอปเปิลพันธุ์แอนนา (Malus sylvestris, cv. Anna) ที่เก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิต่ำ และความดันต่ำ
พรรณี พงษ์สวัสดิ์
การค้นคว้าแบบอิสระเชิงวิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาการสอนชีววิทยา)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2530. 84 หน้า.
2530
บทคัดย่อ
แอปเปิลพันธุ์แอนนาที่เก็บจากดอยแม่แฮ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีอายุแตกต่างกัน 3 อายุคือ 98, 105 และ 112 วัน เมื่อนำมาเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิต่ำที่ 3o ซ. ในสภาพความดันปกติและความดันต่ำ (160 มม. ปรอท) เพื่อเปรียบเทียบอายุผลต่ออายุการเก็บรักษาและการเปลี่ยนแปลงคุณภาพระหว่างการเก็บรักษา พบว่าแอปเปิลที่เก็บรักษาในสภาพความดันปกติทั้ง 3 อายุจะเก็บรักษาโดยมีคุณภาพได้นาน 90 วัน โดยค่าความแน่นเนื้อมากกว่า 5.5 ปอนด์ต่อ 7 มม. Diameter plunger และคะแนนการยอมรับไม่ต่ำกว่า 5 ใน 9 ขึ้นไป แอปเปิลที่อายุมากกว่าคือ 112 วัน มีคะแนนการยอมรับสูงแต่มีจำนวนผลที่หมดสภาพระหว่างการเก็บรักษาสูงกว่าอายุอื่น แอปเปิลที่อายุน้อยคือ อายุ 98 วัน จะมีคุณภาพการยอมรับและรสชาติด้อยกว่าอายุอื่น ในสภาพความดันต่ำผลแอปเปิลที่อายุ 98 และ 105 วัน สามารถเก็บรักษาคุณภาพได้นานถึง 180 วัน ยังมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ ยอมรับของผู้บริโภคในขณะที่แอปเปิลที่อายุ 112 วัน จะหมดสภาพการเก็บรักษา ฉะนั้น อายุผลที่เก็บรักษาในทั้ง 2 สภาพได้ดีคือ อายุ 105 วัน
ค่า TSS และอัตราส่วน TSS/ กรดมาลิคของแอปเปิลอายุ 112 วัน จะสูงกว่าแอปเปิล อายุ 105 และ 98 วันคือ ในแต่ละอายุค่า TSS หลังการเก็บเกี่ยวจะมีค่าเท่ากับ 12.24, 10.12 และ 9.88 ตามลำดับ ส่วนค่าอัตราส่วน TSS/กรดมาลิค หลังการเก็บเกี่ยวจะมีค่าเท่ากับ 6.04, 5.19 และ 5.12 ตามลำดับ ค่า TSS ของแอปเปิลอายุ 112 วัน ระหว่างการเก็บรักษาจะลดลงเร็วกว่าอายุอื่น ค่า TSS อาจใช้เป็นเกณฑ์แสดงความแก่อ่อนของผลได้
ค่าความแน่นเนื้อของแอปเปิลอายุ 112 วัน จะมีค่าต่ำกว่าอายุอื่นเมื่อเก็บรักษาได้ 30 วัน ทั้งในสภาพความดันปกติและความดันต่ำค่าความแน่นเนื้ออาจใช้เป็นเกณฑ์บอกคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาได้ ส่วนค่าการสูญเสียน้ำหนักของผลในแต่ละอายุระหว่างการเก็บรักษาไม่มีความแตกต่างทางสถิติ กรด ปริมาณแป้ง ก่อนและระหว่างการเก็บรักษาของแอปเปิลทั้ง 3 อายุ มีความแตกต่างทางสถิติ ค่าความหนาแน่น วิตามินซี และคลอโรฟิลล์มีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ จึงไม่สามารถนำค่าเหล่านี้มาใช้เป็นดัชนีชี้ความแก่อ่อนของผลและคุณภาพของผลระหว่างการเก็บรักษาได้