บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารเคลือบไขและอิเทรลต่ออายุการเก็บรักษาและการสุกของมะม่วงเขียวเสวยและงา Mangifera indica L.cv. Keaw Sawoey, M. indica L. cv. Nga)

นิตยา มหาโพธิ์

การค้นคว้าแบบอิสระเชิงวิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการสอนชีววิทยา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2531. 104 หน้า.

2531

บทคัดย่อ

การค้นคว้าแบบอิสระเชิงวิทยานิพนธ์ ผลของสารเคลือบไขและอิเทรลต่ออายุการเก็บรักษาและการสุกของมะม่วงเขียวเสวยและงา Mangifera indica L.cv. Keaw Sawoey,M. indica L. N : Nga)

การเก็บรักษามะม่วงเขียวเสวยที่แก่จัดแต่ยังไม่สุก โดยเคลือบด้วยสารเคลือบไข (wax) ชนิด Semper Fresh ความเข้มข้น 1 % และ 2 % ที่อุณหภูมิห้อง (27-32 oซ.) ความชื้นสัมพัทธ์ 75-78 % และที่อุณหภูมิ 13-15 oซ. ความชื้นสัมพัทธ์ 81-78 % มะม่วงที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13-15 oซ. ในชุดที่ไม่เคลือบไขผลจะสุกเมื่อเก็บรักษาได้ 25 วัน การเคลือบผลด้วยสารเคลือบไข 2 % จะชลอการสุกได้นานกว่าชุดไม่เคลือบไขประมาณ 1 สัปดาห์ แต่จะเกิดกลิ่นหมัก ส่วนชุดเคลือบไข 1 % จะมีคุณภาพของผลคล้ายชุดไม่เคลือบไข มะม่วงชุดที่ไม่เคลือบไขจะสูญเสียน้ำหนัก 12 % เมื่อเก็บรักษาได้ 30 วัน การเคลือบไขจะลดการสูญเสียน้ำหนักได้เพียง 1 และ 2 % เมื่อเคลือบไขความเข้มข้น 1 และ 2 % โดยจะมีการสูญเสียน้ำหนักลดลงเป็น 11 % และ 10 % ตามลำดับ การเคลือบผลด้วยสารเคลือบไข 2 % จะชลอการลดลงของความแน่นเนื้อได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ หลังจากที่เก็บรักษาได้ 35 วัน ค่าความแน่นเนื้อของกลุ่มไม่เคลือบไข และกลุ่มเคลือบไข 1 % และ 2 % มีค่าเท่ากับ 3.84, 4.36, 5.44 กก. หัวเจาะขนาดเส้นศูนย์กลาง 7 มม. ตามลำดับ สารเคลือบไขจะชลอการเพิ่มของปริมาณ Total soluble solid (TSS). ปริมาณ TSS / acid และปริมาณน้ำตาลรีดิวในระหว่างการเก็บรักษา ขณะเดียวกันก็จะชลอการลดลงของปริมาณ Total nonstructural carbohydrate (TNC) และปริมาณกรดซิตริกด้วย

การเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง (27-32o ซ.) ความชื้นสัมพัทธ์ 75-78 % มะม่วงเขียวเสวยที่เคลือบด้วยสารเคลือบไขมีคะแนนสภาพผลไม่แตกต่างจากกลุ่มไม่เคลือบไขเมื่อเก็บรักษาได้ 5 วัน โดยที่ทั้งสองกลุ่มยังมีคะแนนสภาพผลอยู่ในระดับที่ยอมรับเป็นมะม่วงดิบ เมื่อเก็บรักษาได้ 10 วัน แม้ชุดเคลือบไขจะมีสภาพผลสุกน้อยกว่าชุดที่ไม่เคลือบไข แต่ก็เกิดกลิ่นหมัก

มะม่วงพันธุ์งาที่นำมาเคลือบด้วยสารเคลือบไขมีความแก่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถสุกได้ปกติ ทั้งขุดควบคุมและชุดเคลือบไข จึงไม่ได้ประเมินคุณภาพของผลการเร่งการสุกของมะม่วงพันธุ์งา โดยนำมาจุ่มด้วยสารอีเทรลความเข้มข้น 100 ppm เป็นเวลา 1 นาที พบว่ามะม่วงที่จุ่มด้วยอีเทรลจะสุกเร็วกว่ามะม่วงที่ไม่ได้จุ่มด้วยอีเทรลประมาณ 1 สัปดาห์ (เฉลี่ย 7.1 วัน) เมื่อบ่มที่อุณหภูมิห้อง (27-32o ซ.) ส่วนการจุ่มด้วยอีเทรลแล้วบ่มที่อุณหภูมิ 20. 25 และ 35o ซ พบว่าจะสุกในเวลาเฉลี่ย 12.5, 8.2, 8.3 วัน ตามลำดับ การบ่อมที่ 20o ซ ความชื้นสัมพัทธ์ 85-92 % ผลจะสุกสม่ำเสมอ ในเวลาใกล้เคียงกัน โดยมีคุณภาพดี ทั้งลักษณะสี เนื้อ รสชาติ และกลิ่น ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค มากกว่ามะม่วงที่บ่มที่อุณหภูมิอื่น ๆ ส่วนมะม่วงที่บ่มที่อุณหภูมิสูงเกินไปคือ ที่ 35o ซ จะทำให้มะม่วงมีสีซีด กลิ่นฉุน เนื้อค่อนข้างเละ