โรคใบม้วนหงิกและผลของโรคที่มีต่อผลลำไยพันธุ์ดอก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว
เสาวรัตน์ คุณยศยิ่ง
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาชีววิทยา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2535. 182 หน้า.
2535
บทคัดย่อ
โรคใบม้วนหงิกในลำไยพันธุ์ดอ (Euphoria longana Lamk.) cv. Daw เกิดจากการเข้าทำลายของไรขาว (Polyphagotarsonemus latus Bank.) ตระกูล Tarsonemidae ผลกระทบของโรคนี้ที่มีต่อลำไยพันธุ์ดอก่อนการเก็บเกี่ยวที่ศึกษาพบได้แก่ การแสดงอาการผิดปกติที่ส่วนใบบริเวณปลายยอดของกิ่งทำให้ใบมีลายด่างและหงิกงอ เมื่อเป็นรุนแรงมากทำให้ใบลีบ เรียวยาว และกรอบด้าน นอกจากนี้ยังทำให้ช่อดอกสั้นกว่าปกติ มีจำนวนก้านในช่อดอกน้อย มีการร่วงของดอกและผลที่มากกว่าปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เชื้อราที่แยกได้จากดอกและผลร่วงที่พบมาก ได้แก่ Fusarium sp., Pestalotiopsis sp., Lasiodipladia sp., Phoma sp., Curvularia sp., และ Aspergillus sp. ตามลำดับ ผลกระทบต่อเนื่องของโรคนี้ยังมีต่อผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวคือ ให้จำนวนและน้ำหนักผลต่อช่อ ความเป็นกรดด่าง ตลอดจนปริมาณวิตามินซีที่น้อยกว่าต้นปกติอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติแต่มีปริมาณน้ำตาลมากกว่าต้นปกติ อย่างไรก็ตามลักษณะบางอย่างเช่น น้ำหนักขนาด ปริมาตร และสีผิว ของแต่ละผลไม่แตกต่างจากผลที่ได้จากต้นปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าผลลำไยที่ได้จากต้นที่เป็นโรคนี้มีอายุการเก็บรักษาสั้นลงกล่าวคือ เกิดสีน้ำตาลคล้ำที่เปลือกเร็วกว่าผลที่ได้จากต้นปกติหากมีการเก็บรักษาเกิน 8 วัน และหลังจากการเก็บรักษาที่ 5o C และ 10o C เป็นเวลา 3 สัปดาห์ พบว่าผลลำไยจากต้นเป็นโรคมีการเน่าเสียของเนื้อลำไยในระดับที่สูงและมีเชื้อราที่แยกได้จากผลเน่าภายหลังเก็บรักษา เป็นเชื้อชนิดเดิมที่พบก่อนการเก็บเกี่ยว จากการทดสอบความอ่อนแอต่อโรคโดยการปลูกเชื้อราที่แยกได้จากดอกและผลร่วงก่อนการเก็บเกี่ยวบนผลลำไย พบว่าผลลำไยจากต้นที่เป็นโรคใบม้วนหงิกอ่อนแอต่อเชื้อทั้งหมดที่นำมาทดสอบ เห็นได้ว่าโรคใบม้วนหงิกในลำไยมีความสำคัญมาก ทำความเสียหายให้กับลำไยทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว