บทคัดย่องานวิจัย

การปรับปรุงมะเขือเทศพันธุ์ทนร้อนเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลโดยวิธีผสมกลับ

สุภาภรณ์ ปุณลวงค์

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชสวน)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537. 136 หน้า.

2537

บทคัดย่อ

การปรับปรุงมะเขือเทศพันธุ์ทนร้อนเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลโดยวิธีผสมกลับ

การปรับปรุงมะเขือเทศพันธุ์ทนร้อนเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลโดยวิธีการผสมกลับ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ การคัดเลือกยีโนไทฟ์ +/nor ในประชากรลูกผสมกลับเพื่อนำไปใช้สร้าง ลูกผสมกลับชั่วที่ 2 และลูกผสมกลับฃั่วที่ 3 และการประเมินผลลูกผสมกลับทั้ง 3 ชั่ว กับพันธุ์พ่อ พันธุ์แม่ และลูกผสมชั่วที่ 1

ใช้พันธุ์ nor1 และพันธุ์ nor2 เป็นพันธุ์พ่อผสมกับพันธุ์ทนร้อน 4 พันธุ์ คือ พันธุ์ #598 พันธุ์ #605 พันธุ์ #607 และพันธุ์ L22 ในการผสมกลับได้ใช้ยีโนไทฟ์ +/nor เป็นพันธุ์แม่ผสมกลับไปยังพันธุ์ทนร้อน 4 พันธุ์ ทั้ง 3 ชั่ว

การคัดเลือก ยีโนไทฟ์ +/nor มี 2 วิธี การทดลองคือ การใช้ลักษณะอายุการเก็บรักษาผลหลังการเก็บเกี่ยว และการใช้ความสัมพันธ์ระหว่างอายุการสุกของผลในแปลงปลูกกับปริมาณเอทธิลีนภายในผล ปริมาณของเอนไซม์โพลี่กาแลคทูโรเนส และอายุการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว

ยีโนไทฟ์ +/nor สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานกว่า และมีอายุผลสุกช้ากว่า ยีโนไทฟ์ +/+ นอกจากนี้เอทธิลีนภายในผลของยีโนไทฟ์ +/nor มีปริมาณต่ำกว่า ยีโนไทฟ์ +/+ อย่างไรก็ตามวิธีการประเมินด้วยปริมาณเอนไซม์โพลี่กาแลคทูโรเนสไม่สามารถจำแนกความแตกต่างระหว่าง ยีโนไทฟ์ +/nor และยีโนไทฟ์ +/+ ได้อย่างชัดเจน

การประเมินผลประชากรลูกผสมกลับในลักษณะต่าง ๆ พบว่าลูกผสมกลับชั่วที่ 1 ชั่วที่ 2 และชั่วที่ 3 มีอัตราการติดผลนับจาก 5 ช่อดอกแรก ไม่แตกต่างทางสถิติกับพันธุ์แม่

ในลักษณะความสูงพบว่า ลูกผสมกลับชั่วที่ 1 ชั่วที่ 2 และชั่วที่ 3 ของพันธุ์แม่ #605 และ #607 เท่านั้นที่มีความสูงไม่แตกต่างพันธุ์แม่

ในลักษณะผลผลิตพบว่า ลูกผสมกลับชั่วที่ 1 ส่วนใหญ่ ลูกผสมกลับชั่วที่ 2 ส่วนใหญ่และลูกผสมกลับชั่วที่ 3 ทุกประชากร ให้ผลผลิตเท่ากับพันธุ์แม่ นอกจากนี้ยังมีประชากรที่ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์แม่ ได้แก่ #607xnor2 BC1F1 #598xnor2BC1F1 #598xnor1BC2F1 และ #598xnor2BC2F1

ผลการประเมินคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวระยะสุกแดง พบว่าสีผลภายนอกของลูกผสม กลับชั่วที่ 1 ทุกประชากร ไม่เป็นสีแดง สีผลภายนอกของลูกผสมกลับชั่วที่ 2 ส่วนใหญ่ และลูกผสมกลับชั่วที่ 3 ทุกประชากร มีสีแดง ส่วนคุณภาพลักษณะอื่น ๆ ของลูกผสมกลับทั้ง 3 ชั่ว ได้มาตรฐานตามมะเขือเทศประเภทอุตสาหกรรม

ผลการประเมินคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวระยะสีชมพูแล้วเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องนาน 30 วัน พบว่าสีผลภายนอกและสีน้ำมะเขือเทศสดของลูกผสมกลับทุกประชากร พัฒนาได้ถึงระดับสีส้มปนแดง ลูกผสมกลับส่วนใหญ่มีความแน่นเนื้อมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร มีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่ำกว่า 4.5 องศาบริกซ์ มีปริมาณวิตามินซีในรูปของกรดแอสคอร์บิก มากกว่า 20 มิลลิกรัม/100 กรัมมะเขือเทศ ส่วนคุณภาพด้านความเป็นกรดด่างและปริมาณกรดรวมได้มาตรฐานตามอุตสาหกรรมมะเขือเทศ

การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของลักษณะคุณภาพผลซึ่งเก็บเกี่ยวระยะสีชมพู โดยทำการตรวจสอบคุณภาพทุก 3 วัน พบว่าประชากรลูกผสมกลับทั้ง 3 ชั่ว มีสีผลภายนอกและสีน้ำมะเขือเทศสดไม่พัฒนาถึงระดับสีแดง ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่ำกว่า 4.5 องศาบริกซ์ ปริมาณวิตามินซีจะลดลงเมื่อเก็บไว้เป็นเวลานาน ความเป็นกรดด่างของผลสุกนิ่มจะต่ำกว่า 4.5 แต่ระดับความเป็นกรดด่างของผลไม่สุกนิ่มและเมล็ดภายในงอกจะสูงกว่า 4.5 ปริมาณกรดรวมส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 0.40 ตลอดเวลาเก็บรักษา

ลูกผสมกลับชั่วที่ 2 และชั่วที่ 3 ส่วนใหญ่สามารถเก็บรักษาผลได้นานกว่า 30 วัน โดยที่จำนวนผลดีคงเหลือมากกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้ยกเว้นลูกผสมกลับชั่วที่ 2 ของคู่ผสม #598xnor2 ลูกผสมกลับชั่วที่ 2 และชั่วที่ 3 ของคู่ผสม L22xnor1 และ L22xnor2

จากการวิเคราะห์ลักษณะดังกล่าวข้างต้น พบว่าประชากรลูกผสมกลับชั่วที่ 1 ยังไม่สามารถสกัดและรวมเอาลักษณะที่ดีจากพันธุ์แม่ไว้ได้ แต่พบว่าในประชากรลูกผสมกลับชั่วที่ 2 และชั่วที่ 3 ได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า มีลักษณะพันธุ์ดีเด่นให้คัดเลือกได้ เช่น ในประชากรลูกผสมกลับชั่วที่ 2 มีลักษณะดีเด่นปรากฏให้เห็น 5 ประชากรได้แก่ #598xnor1BC2F1 #598xnor2BC2F1 #605xnor2BC2F1 #607xnor2BC2F1 และ L22xnor1BC2F1 สำหรับลูกผสมกลับชั่วที่ 3 ทุกประชากร แสดงลักษณะที่ดีเด่นปรากฏอย่างชัดเจน