การเติบโตและดัชนีการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย (Mangifera indica L. cv. Keaw Sawoey)
เสาวลักษณ์ กังวานตระกูล
การค้นคว้าแบบอิสระเชิงวิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการสอนชีววิทยา)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2530. 72 หน้า.
2530
บทคัดย่อ
การเติบโตของผลมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย (Mangifera indica L. cv. Keaw Sawoey) โดยวัดและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางเคมี พบว่า การเติบโตของผลมะม่วงเขียวเสวย ตั้งแต่เริ่มติดผลจนผลแก่เต็มที่ และมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับสูงสุด ใช้เวลาประมาณ 13 สัปดาห์หลังจากติดผล หรือ 15 สัปดาห์หลังจากดอกบาน โดยมีแบบแผนการเติบโตเป็นแบบ Single Sigmoid Curve ส่วนเมล็ดจะเติบโตจนมีขนาดเกือบโตเต็มที่ ใช้เวลาประมาณ 8 สัปดาห์หลังจากติดผล และมีแบบแผนการเติบโตเช่นเดียวกับผล ความถ่วงจำเพาะของผลมีค่าเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยมีค่าต่ำกว่า 1.00 เล็กน้อยตลอดการเติบโตของผล แต่ความถ่วงจำเพาะของเมล็ดที่อายุเกิน 12 สัปดาห์หลังจากติดผลมีค่ามากกว่า 1 เล็กน้อย ส่วนของเอ็นโดคาร์ปจะแข็งตัวในสัปดาห์ที่ 10 หลังจากติดผล เปลือกผลมีการพัฒนาสีโดยเริ่มจากสีเขียวอ่อน (7.5 Gy 6/6) เป็นสีเขียวเข้มขึ้น (5G 6/2) และปริมาณคอลโรฟิลล์ก็เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้พบว่า เมื่อผลมะม่วงใกล้แก่จะมีจุดสีน้ำตาล (lenticel) ที่ผิวเกิดขึ้น และจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุของผล ปริมาณแป้งจะเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเอ็นโดคาร์ปเริ่มแข็งตัว แต่ปริมาณจะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย หลังจากผลเริ่มแก่จนถึงระยะเก็บเกี่ยว ส่วนปริมาณกรดจะลดลงจนกระทั่งถึงระยะเก็บเกี่ยว ปริมาณน้ำตาลค่อนข้างคงที่ตลอดการเติบโตของผล แต่ปริมาณน้ำตาลประเภทรีดิวซ์มีค่าลดลงตามการพัฒนาของผล ปริมาณวิตามินซีเมื่อผลใกล้แก่มีแนวโน้มสูงขึ้นจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ปริมาณของแข็ง (Total Solids) ในเนื้อผลมีมากขึ้นตามการพัฒนาของผล
จากการหาค่าสหสัมพันธ์ของอายุผลกับการเติบโตของผล การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในเนื้อผลและการยอมรับทั่วไป สรุปได้ว่า สามารถใช้อัตราส่วนระหว่างแป้งต่อกรด ปริมาณแป้งในเนื้อผล อัตราส่วนระหว่างน้ำตาลต่อกรดหรือปริมาณกรดในเนื้อผล เป็นดัชนีการเก็บเกี่ยวมะม่วงพันธุ์เขียวเสวยได้ โดยควรเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีค่าอัตราส่วนระหว่างแป้งต่อกรดประมาณ 21 ปริมาณแป้ง 140 มก . กลูโคสต่อกรัมน้ำหนักแห้ง อัตราส่วนระหว่างน้ำตาลต่อกรด 1.0 หรือปริมาณกรด 8.6 % ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้ มะม่วงจะมีอายุประมาณ 91 วัน หลังจากติดผลหรือ 105 วันหลังจากดอกบาน และมีจุดสีน้ำตาลบนเปลือกผลเต็มที่พื้นที่ผิว ซึ่งอาจจะใช้เป็นดัชนีการเก็บเกี่ยวด้านกายภาพของมะม่วงชนิดนี้ได้