บทคัดย่องานวิจัย

ความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการสุกของผลมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย (Mangifera indica L. cv. Keaw Sawaey) กับขนาดของรูเจาะบนพลาสติกบางที่ใช้หีบห่อ

พรรณนิภา สีมาวงษ์

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาชีววิทยา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2540. 79 หน้า.

2540

บทคัดย่อ

ความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการสุกของผลมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย (Mangifera indica L. cv. Keaw Sawaey) กับขนาดของรูเจาะบนพลาสติกบางที่ใช้หีบห่อ

จากการศึกษาหาอัตราการหายใจของผลมะม่วงเขียวเสวยที่เก็บรักษาภายใต้สภาพบรรยากาศที่ดัดแปลง (modified atmosphere, MA) โดยวิธีวัดการสะสมปริมาณของ CO2 และการลดปริมาณของ O2 ภายในภาชนะบรรจุปิดสนิท (close system) แล้วนำมาคำนวณหาอัตราการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยใช้สมการทางคณิตศาสตร์ เพื่อเปรียบเทียบอัตราการหายใจภายใต้ MA ที่อุณหภูมิ 13OC ของมะม่วงที่ระดับความแก่ 70 %, 80 % และ 90 % หลังจากการเก็บรักษา 1 วัน , 18 วัน และ 32 วัน พบว่าในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการเก็บรักษา ความแก่ต่างระดับกันไม่มีผลต่ออัตราการหายใจของมะม่วง แต่เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 4 มะม่วงแก่ 90 % มีแนวโน้มจะมีอัตราการหายใจสูงกว่ามะม่วงที่ความแก่ระดับอื่น ๆ และอัตราการหายใจภายใต้ MA จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ หลังการเก็บรักษา

พฤติกรรมการสุกและการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของมะม่วงเขียวเสวยที่เก็บรักษาภายใต้สภาพ MA ได้ศึกษาโดยนำมะม่วงแก่ 70 % มาหีบห่อด้วยการใช้ฟิล์มพลาสติกชนิด polypropylene (PP) หนา 0.04 mm ไม่เจาะรู , เจาะรูขนาด 0.3, 0.5, 0.6, 0.7, 1.0, 1.5, 3.0 mm ห่อด้วยฟิล์มพลาสติกชนิด polyvinyl chloride (PVC) หนา 0.01 mm และฟิล์มพลาสติกชนิด biaxially polypropylene (Cryovac MYP 8 CF 20) โดยห่อผลรวมทั้งถาด 3 ผลต่อถาด เก็บที่อุณหภูมิ 13OC ความชื้นสัมพัทธ์ 88 - 89 % แล้ววัดการเปลี่ยนแปลงก๊าซภายในหีบห่อ วัดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลทางกายภาพ ทางเคมี พฤติกรรมการสุก และอายุการเก็บรักษา พบว่าการสะสมของก๊าซในหีบห่อขึ้นอยู่กับขนาดของรูและอัตราการซึมผ่านฟิล์ม (permeability) ของก๊าซ ในชุดที่ห่อฟิล์ม PP ปริมาณก๊าซ CO2 และ O2 จะสัมพันธ์กับขนาดของรูเจาะ เมื่อเปรียบเทียบกับชุดที่ห่อฟิล์ม PVC พบว่าฟิล์ม PP ที่เจาะรูขนาด 0.7 mm ที่ทำให้ O2 ในหีบห่อมีระดับเท่ากับ จะมีระดับ CO2 ที่สะสมมากกว่า แสดงว่าฟิล์ม PVC ยอมให้ก๊าซ CO2 ผ่านได้ดีกว่าฟิล์ม PP ที่เจาะรูที่ทำให้ระดับ O2 เท่ากันดังกล่าว ส่วนชุดที่ใช้ Cryovac perforated film นั้น มีจำนวนรูมากพอจนไม่มีการสะสมของก๊าซในหีบห่อ

มะม่วงที่ห่อฟิล์ม PP ไม่เจาะรู และเจาะรูขนาด 0.3 mm ระดับ O2 ต่ำกว่า 1.8 % และ CO2 สูงกว่า 17.7 % สภาพบรรยากาศดัดแปลงในระดับนี้ พบว่ามีการรักษาความแน่นเนื้อชะลอการเปลี่ยนแปลงสีเนื้อและการเพิ่มขึ้นของปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ มีผลให้มะม่วงไม่สุกตลอด 31 วัน แต่มีกลิ่นหมักเกิดขึ้นเมื่อวิเคราะห์ในวันที่ 12 ชุดที่ใช้ฟิล์ม PP ขนาด 0.5-3.0 mm ชุดห่อฟิล์ม PVC และชุดใช้ Cryovac perforated film มะม่วงยังแสดงลักษณะผลสดได้นาน 16 วัน หลังจากนั้นบางผลจะแสดงอาการห่าม เนื้อด้านในยุ่ย สีเหลืองปรากฏขึ้นชัดเจน ในหีบห่อที่มีการสะสมของ CO2 สูง ส่วนชุดที่ห่อด้วย Cryovac perforated film ซึ่งไม่มีการสะสมของก๊าซ จะยังคงแสดงลักษณะผลดิบจนถึงวันที่ 31 หลังการเก็บรักษา