บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของระยะการเก็บเกี่ยวที่มีต่อการพักตัวของเมล็ดผักกาดขาวปลี และผักกาดเขียวปลี

จรัญ ดิษฐไชยวงศ์

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2533. 76 หน้า.

2533

บทคัดย่อ

อิทธิพลของระยะการเก็บเกี่ยวที่มีต่อการฟักตัวของเมล็ดผักกาดขาวปลี และผักกาดเขียวปลี

            จากการปลูกผักกาดขาวปลี (Brassica  campestris L. ssp. Pekinensis (Lour.) Olssonl  6  สายพันธุ์  ได้แก่  #23 77M(3)-27,  #26 77M(3)-27,  #61,  ตราช้าง  ตราปลาวาฬ  และตราเครื่องบิน  พร้อมกับปลูกผักกาดเขียวปลี  (Brassica  juncea l…)  6 สายพันธุ์  ได้แก่  2113,  2118,  # 64,  ตราปลาวาฬ,  ตราปลาทอง  และตราเครื่องบิน  ณ  แปลงทดลอง  ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร  คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เมื่อวันที่  23  ธันวาคม  2531  เก็บเกี่ยวเมล็ดในระยะหลังดอกบาน  21-30,  31-40  และ  41-50  วัน  ผักกาดขาวปลีตราช้าง  และตราปลาวาฬ  ไม่แทงช่อดอก  จึงเก็บเกี่ยวเมล็ดไม่ได้  เมื่อนำเมล็ดที่เก็บเกี่ยวใหม่  ๆ  (control)  มาทดสอบความงอกทุก  ๆ  เดือน  ในระยะเวลา  2 เดือน รวมทั้งทดสอบวิธีทำลายการพักตัวโดยวิธีการต่าง ๆ  กัน  คือใช้  KNO3 0.1,  0.2  และ  0.3 %    ผ่านความเย็น  (prechill)  5-10 Oซ  นาน  1,  3  และ  5 วัน  (ผักกาดขาวปลี)  นาน  5,  7  และ  9  วัน  (ผักกาดเขียวปลี)  และใช้   GA3   200, 300,  400  และ  500  ppm  พบว่าเมล็ดผักกาดขาวปลี  #23  77M(3)-27  (ระยะการเก็บเกี่ยว  41-50 วัน),  #26  77M(3)-27,  ผักกาดเขียวปลี  2113,  2118,  #64,  ตราปลาวาฬและตราปลาทอง  ในทุกระยะการเก็บเกี่ยวมีความงอกสูง  จึงไม่ทำการศึกษาวิธีทำลายการพักตัวของเมล็ดเหล่านี้  แต่จากการสังเกต และทดสอบความงอก  พบว่าทุกสายพันธุ์ที่ระยะการเก็บเกี่ยว  41-50 วัน  มีเปอร์เซนต์ความงอกสูงกว่าเมล็ดที่เก็บเกี่ยวระยะ  21-30  และ  31-40  วัน  ส่วนเมล็ดผักกาดขาวปลี  #23  77M(3)-27  ที่ได้นำมาทำการศึกษาเฉพาะระยะการเก็บเกี่ยว  21-30  และ  31-40  วัน,  #61,  ตราเครื่องบิน  และผักกาดเขียวปลี  ตราเครื่องบิน  ในทุกระยะการเก็บเกี่ยว  หลังจากทำลายการพักตัวโดยวิธีต่าง ๆ  กัน  พบว่า  การเก็บเมล็ดนาน  2 เดือนที่อุณหภูมิห้อง,   KNO3 0.3%,  ผ่านความเย็น  นาน  3  วัน  (ผักกาดขาวปลี)  นาน  7 วัน  (ผักกาดเขียวปลี)  และ   GA3 200  ppm  ต่างก็กระตุ้นให้เมล็ดงอกมากขึ้น  แต่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ  ระหว่างวิธีการต่าง ๆ

            เมื่อนำเมล็ดผักกาดขาวปลีและผักกาดเขียวปลีในแต่ละระยะการเก็บเกี่ยวที่มีการพักตัวมาวิเคราะห์ปริมาณสารยับยั้งการงอก  abscisic  acid  (ABA)  โดยวิธี  High  performance  liquid  chromatography  (HPLC)  ผลปรากฏว่าไม่พบสารดังกล่าว  ที่ควรจะเป็นสาร  ABA  แต่ได้พบสารชนิดอื่น  ซึ่งปรากฏออกมาในกราฟ  แต่ไม่ได้ทำการวิเคราะห์สารที่ปรากฏนั้น