คุณภาพและความสามารถในการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองภายหลังการปรับปรุงสภาพ
สมชาย ผะอบเหล็ก
วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชไร่)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2543. 103 หน้า.
2543
บทคัดย่อ
งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบผลกระทบของอุปกรณ์หรือเครื่องจักรกลในแต่ละขั้นตอนของโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ที่มีต่อคุณภาพและความสามารถในการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ดำเนินการระหว่าง ธันวาคม 2541 ถึง ตุลาคม 2542 ปลูกถั่วเหลืองที่แปลงนาของเกษตรกรโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์หลักถั่วเหลืองฤดูแล้งของศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ แล้วนำเมล็ดพันธุ์มาทดลองที่โรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์และห้องปฏิบัติการวิทยาการเมล็ดพันธุ์ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ แบ่งเป็น 2 การทดลอง คือ ผลกระทบของโรงงานปรับปรุงสภาพต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง สจ.5 และเชียงใหม่ 60 Sub plot คือ ขั้นตอนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ในโรงงานปรับปรุงสภาพ จำนวน 11 ขั้นตอน และผลกระทบของโรงงานปรับปรุงสภาพต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ระหว่างการเก็บรักษา นำเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองจากการทดลองที่ 1 มาเก็บรักษา วางแผนการทดลองแบบ Split split plot design มี 4 ซ้ำ Main plot คือ ขั้นตอนการปรับปรุงสภาพ 11 ขั้นตอน Sub plot คือ สภาพการเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิห้องและสภาพควบคุมอุณหภูมิที่ 15 – 20 องศาเซลเซียส Sub sub plot คือ ระยะเวลาเก็บรักษาทุกเดือน ตั้งแต่ 0 – 6 เดือน ผลการทดลองพบว่า เปอร์เซ็นต์ความชื้นเฉลี่ยของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองหลังอบลดความชื้นในถังอบที่ระยะห่างจากท่อลมกลางถังอบและที่ระดับความสูง ถังอบเพิ่มขึ้นเปอร์เซ็นต์ความชื้นเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น การลำเลียงเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองด้วยสายพานแบบกระพ้อ หลังอบลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ ในขั้นตอนที่ 7 และ 10 มีผลให้เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 มีเปอร์เซ็นต์การแตกร้าวเพิ่มขึ้น เครื่องทำความสะอาดขั้นต้น และเครื่องคัดแบบตะแกรงและลม สามารถลดสิ่งเจือปนในเมล็ดพันธุ์จาก 0.50 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 0.13 และ 0.03 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ทุกขั้นตอนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ไม่มีผลให้เปอร์เซ็นต์ความงอกและความแข็งแรงเฉลี่ยของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองหลังปรับปรุงสภาพและตลอดระยะเวลาการเก็บรักษาแตกต่างกัน ถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.5 มีความงอกและความแข็งแรงสูงกว่าพันธุ์เชียงหใม่ 60 ส่วนสภาพการเก็บรักษาพบว่า การเก็บรักษาในสภาพควบคุมอุณหภูมิที่ 15 – 20 องศาเซลเซียส เปอร์เซ็นต์ความงอกและความแข็งแรงจะสูงกว่าการเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิห้อง นอกจากนี้ยังพบว่าเปอร์เซ็นต์ความงอกและความแข็งแรงเฉลี่ยของเมล็ดพันธุ์ จะลดลงเมื่อระยะเวลาการเก็บรักษานานขึ้น โดยสามารถเก็บรักษาให้มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ได้เป็นเวลา 3 เดือน ในพันธุ์เชียงใหม่ 60 และ 4 เดือน ในพันธุ์ สจ.5