ผลของระยะเวลาการเก็บเกี่ยวต่อปริมาณเมล็ดย่น และคุณภาพเมล็ดถั่วเหลืองในสภาพการเก็บรักษาที่ต่างกัน
กัลยา รัตนถาวร
วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาพืชไร่)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2536. 98 หน้า.
2536
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของระยะเวลาการเก็บเกี่ยวต่อปริมาณเมล็ดย่น และคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.5 และ ชม.60 ในสภาพการเก็บรักษาที่ต่างกัน ดำเนินการศึกษาเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่ระยะต่าง ๆ ต่อปริมาณเมล็ดย่น โดยเก็บเกี่ยวที่ระยะก่อนการสุกแก่ทางสรีรวิทยา ระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา ระยะสุกแก่ทางการเก็บเกี่ยว และระยะเก็บเกี่ยวที่ล่าช้า พบว่าการเก็บเกี่ยวล่าช้าจะทำให้เกิดเมล็ดย่นสูงสุดคือ 20.8 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง 2 พันธุ์ และเก็บเกี่ยวที่ระยะสุกแก่ทางการเก็บเกี่ยวมีเมล็ดย่นน้อยที่สุด คือ 10.4 เปอร์เซ็นต์ ขั้นตอนที่ 2 ผลของการศึกษาเมล็ดย่อนระดับต่าง ๆ ต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองในสภาพการเก็บรักษา 2 สภาพคือ สภาพอุณหภูมิห้อง และสภาพควบคุมอุณหภูมิ และเก็บรักษานาน 7 สัปดาห์ โดยการทดสอบความงอกมาตรฐาน ทอสอบความงอกในแปลง และทดสอบความแข็งแรงโดยการเร่งอายุ ผลการทดสอบทั้ง 3 วิธีให้ผลคล้ายคลึงกันคือ เมล็ดย่นทุกระดับในการเก็บรักษาใน 2 สภาพมีเปอร์เซ็นต์ความงอกลดลง ซึ่งการเก็บรักษาในสภาพควบคุมอุณหภูมิพบว่า เมล็ดย่นแต่ละระดับมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงกว่าการเก็บรักษาในอุณหภูมิห้องและเปอร์เซ็นต์ความงอกเริ่มต้นก่อนการเก็บรักษาสูงกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเก็บรักษานาน 7 สัปดาห์ เมล็ดย่นทุกระดับมีอายุการเก็บรักษาต่ำกว่าเมล็ดไม่ย่นแต่อย่างไรก็ตาม เมล็ดย่นทุกระดับของถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.5 พบว่ามีความงอกสูงกว่ามาตรฐาน คือสูงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ หลังการเก็บรักษานาน 7 สัปดาห์ ส่วนเมล็ดย่นมาก และย่นปานกลางในพันธุ์ ชม.60 มีเปอร์เซ็นต์ความงอกลดลงต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น คือ มีความงอกเฉลี่ย 50 เปอร์เซ็นต์ แต่เมล็ดย่นน้อย และไม่ย่น มีความงอกสูงกว่ามาตรฐาน ฉะนั้น ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ สจ.5 ลักษณะย่นของผิวเปลือกไม่ว่าย่นในระดับไหนคุณภาพของเมล็ดพันธุ์หลังการเก็บในระยะหลัง 7 สัปดาห์นั้น ยังสูงกว่ามาตรฐาน แต่สำหรับพันธุ์ ชม.60 นั้น เมล็ดที่มีผิวเปลือกย่นมาก และย่นปานกลาง ควรจะทำการคัดแยกออก เพราะคุณภาพจะลดลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นเพียงหลัง 7 สัปดาห์เท่านั้น