การศึกษาขนาดของหัวพันธุ์ การเก็บรักษาหัวพันธุ์ และการปรับปรุงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวดอกว่านมหาลาภ
สุพจน์ เพ็ชรบุรี
วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาพืชสวน)) มหวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537. 118 หน้า.
2537
บทคัดย่อ
การศึกษาขนาดของหัวพันธุ์ว่านมหาลาภที่สามารถให้ดอกได้ โดยการศึกษาลักษณะปลายยอดของหัวพันธุ์ที่อยู่ในระยะพักตัว พบว่าหัวพันธุ์ที่มีขนาดเส้นรอบวง 3.1-5.0 และ 5.1-7.0 ซม. ไม่มีการสร้างช่อดอกที่ปลายยอด หัวพันธุ์ขนาด 7.1-9.0 และ 9.1-11.0 ซม. บางหัวมีการสร้างช่อดอกที่ปลายยอด ส่วนหัวพันธุ์ขนาด 11.1-13.0 และ 13.1-15.0 ซม. มีการสร้างช่อดอกที่สมบูรณ์ทุกหัว
การเก็บรักษาหัวพันธุ์ที่อุณหภูมิ 5Oซ. และ 10Oซ เปรียบเทียบกับที่อุณหภูมิห้อง พบว่า หัวพันธุ์ที่เก็บรักษาไว้ที่ 5Oซ. และ 10Oซ. สามารถเก็บไว้ได้นาน 15 สัปดาห์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงของช่อดอกที่อยู่ภายในหัวพันธุ์เล็กน้อย หัวพันธุ์ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องเก็บไว้ได้เพียง 3 สัปดาห์ ก็จะหมดระยะพักตัว และงอกช่อดอกออกมา หัวพันธุ์ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5Oซ. เมื่อนำไปปลูกในแปลงมีแต่การเจริญเติบโตทางใบ เนื่องจากช่อดอกฝ่อไป แต่หัวพันธุ์ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10Oซ. เมื่อนำไปปลูก สามารถให้ช่อดอกเป็นปกติ
การศึกษาการปรับปรุงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของช่อดอกว่านมหาลาภ พบว่า สามารถตัดช่อดอกในระยะที่ดอกยังตูมอยู่ได้ และให้ดอกย่อยบานในแจกันที่บรรจุน้ำยาช่วยปรับปรุงคุณภาพของช่อดอก โดยที่น้ำยาปักแจกัน ที่เหมาะสมคือ น้ำยาที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายขาว 10 % ร่วมกับ 8-HQS 300 สตล ส่วนการศึกษาผลของสารเคมีชนิดอื่น ๆ ที่จะใช้เป็นองค์ประกอบร่วมในน้ำยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำยานั้น พบว่าการใช้ซิลเวอร์ไนเตรท 25-50 สตล หรือกรดซิตริค 500 สตล หรือไคเนติน 60 สตล ร่วมกับน้ำตาลทรายขาว 10% และ 8-HQS 300 สตล จะให้จำนวนดอกย่อยที่สามารถบานได้ทั้งหมดต่อช่อ จำนวนดอกย่อยที่บานในช่อในเวลาเดียวกัน และมีอายุการปักแจกันเพิ่มขึ้น ส่วนการใช้อลูมิเนียมซัลเฟต 50 และ 100 สตล หรือกรดเบนโซอิค 250 และ 500 สตล ในลักษณะเดียวกัน ไม่ช่วยปรับปรุงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของช่อดอก
การศึกษาวิธีเก็บรักษาช่อดอกแบบแห้งที่อุณหภูมิ 2Oซ. ร่วมกับกรรมวิธีการพัลซิ่งในน้ำยาที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลทรายขาว 10 % และ 8-HQS สตล เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนการเก็บรักษา พบว่าการเก็บรักษาดังกล่าว ไม่ให้ผลดีต่อคุณภาพของช่อดอกเมื่อนำมาทดสอบหลังการเก็บรักษาไม่ว่าจะทดสอบที่ 2 หรือ 4 วันหลังการเก็บรักษา ส่วนการเก็บรักษาแบบแห้งที่อุณหภูมิห้องร่วมกับกรรมวิธีการให้ก้านช่อดอกได้รับน้ำเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ก่อนการเก็บรักษานั้น พบว่าช่อดอกที่ผ่านการให้น้ำและเก็บรักษาไว้นาน 2 วัน จะมีคุณภาพหลังการทดสอบในแจกันไม่แตกต่างจากกรรมวิธีควบคุม ส่วนช่อดอกที่เก็บไว้นาน 4 วัน จะเสียคุณภาพไป