คุณภาพทางกายภาพและเคมีหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอเบอรี่
ทองใหม่ แพทย์ไชโย และ ดนัย บุณยเกียรติ
วารสารเกษตร ปีที่ 14 ฉบับที่ 1, 2541. หน้า 52-61.
2541
บทคัดย่อ
การศึกษาคุณภาพทางกายภาพและส่วนประกอบทางเคมีของผลสตรอเบอรี่พันธุ์ Dover, Nyoho,
Sequoia และ Tioga ที่เก็บเกี่ยวในระยะผลสีชมพูขาว ชมพู และแดง พบว่าพันธุ์ที่มีค่าความแน่นเนื้อสูงที่สุดคือพันธุ์
Dover ซึ่งมีค่าสูงถึง 0.80 กก. ขณะที่พันธุ์ Tioga, Nyoho และ Sequoia มีค่า 0.67
0.64 และ 0.51 กก. ตามลำดับ ค่าความแน่นเนื้อของผลสตรอเบอรี่จะลดลงตามการพัฒนาของสี
คือ สีชมพูขาว ชมพู และแดง สตรอเบอรี่พันธุ์ที่มีค่าปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้มากที่สุด
คือพันธุ์ Nyoho (11.00 ํ บริกซ์) และพันธุ์ที่มีค่าต่ำที่สุด คือ พันธุ์ Tioga
(5.33 ํ บริกซ์) สำหรับค่าปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้นี้พบว่าแปรผกผันกับค่าความแน่นเนื้อของผล
โดยพบว่า ผลที่แก่จนมีสีแดงจะมีค่าสูงมากกว่าผลสีชมพู และชมพูขาว ในด้านปริมาณกรดที่ไตเตรทได้พบมากที่สุดในพันธุ์
Nyoho (1.15%) และพันธุ์ที่พบต่ำที่สุดคือพันธุ์ Tioga (0.68%) ค่าปริมาณวิตามินซีสูงที่สุดพบในพันธุ์
Sequoia (42.47 มก./100 ก.น้ำหนักสด) และพันธุ์ที่พบต่ำที่สุด คือ พันธุ์ Tioga
(15.49 มก./100 ก.น้ำหนักสด) นอกจากนี้การยอมรับของผู้บริโภคในระยะที่ผลสตรอเบอรี่สุกแดง
พบว่า พันธุ์ Sequoia ได้รับการยอมรับมากที่สุด
สีผิวและสีเนื้อของผลสตรอเบอรี่ทั้ง 4 พันธุ์มีความใกล้เคียงกัน และเมื่อเก็บรักษาผล
สตรอเบอรี่ ณ สภาพอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จะเปลี่ยนสีจากสีชมพูขาวหรือสีชมพูเป็นแดงได้เร็วกว่าผลที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ
4 องศาเซลเซียส เมื่อวิเคราะห์ปริมาณเพคตินที่ละลายน้ำได้ พบว่า พันธุ์ Dover มีค่าสูงที่สุดเมื่อผลมีสีแดง
ส่วนพันธุ์อื่นๆ มีค่าใกล้เคียงกันที่ระยะเก็บเกี่ยวสีชมพู ขาว ชมพู และแดง นอกจากนี้
พันธุ์ Dover ยังมีปริมาณเพคตินที่ละลายใน ammonium oxalate สูงที่สุดเมื่อเทียบกับพันธุ์อื่นๆ
โดยมีค่าสูงที่สุดในระยะสีแดง (4.43 ก./100 ก.AIS) สีชมพูและชมพูขาวมีค่าต่ำลงมาตามลำดับ
(4.10 และ 3.82 ก./100 ก.AIS) แต่ปริมาณเพคตินที่ละลายในกรดเกลือกลับพบว่ามีค่าสูงที่สุดในพันธุ์
Sequoia ซึ่งพบในระยะสีชมพูขาว สตรอเบอรี่ทุกพันธุ์ที่ทดสอบมีค่าของปริมาณน้ำตาลรีดิวซิ่งมากกว่านันรีดิวซิ่ง
ค่าของปริมาณน้ำตาลรวมและน้ำตาลรีดิวซิ่งของพันธุ์ Sequoia และ Nyoho สูงกว่าพันธุ์
Dover และ Tioga อย่างไรก็ตามไม่พบว่าค่าของน้ำตาลนันรีดิวซิ่งของผลสตรอเบอรี่ทุกพันธุ์แตกต่างกันทางสถิติ
แต่พบความแตกต่างนี้ในค่าปริมาณแอนโธไซยานิน ซึ่งแปรตามระยะการแก่ของผล