บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของอายุการเก็บเกี่ยวและปริมาณ CO2 ต่อการเกิดเอทธิลีน พัฒนาการสุก และอายุ การเก็บรักษากล้วยไข่ในสภาพบรรยากาศดัดแปลง

พรรณิภา ยั่วยล

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพืชสวน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. 2543. 120 หน้า.

2543

บทคัดย่อ

อิทธิพลของอายุการเก็บเกี่ยวและปริมาณ CO2 ต่อการเกิดเอทธิลีน พัฒนาการสุก และอายุ การเก็บรักษากล้วยไข่ในสภาพบรรยากาศดัดแป  การศึกษาอิทธิพลของอายุการเก็บเกี่ยวและปริมาณ CO2 ต่อการเกิดเอทธิลีน พัฒนาการสุก และอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ในสภาพบรรยากาศดัดแปลง แบ่งออกเป็น 4 การทดลอง คือ การทดลองที่ 1 ศึกษาระยะเวลาการสุกของกล้วยไข่ที่อายุการเก็บเกี่ยวต่างกันที่อุณหภูมิห้อง การทดลองที่ 2 ศึกษาผลของอายุการเก็บเกี่ยวและปริมาณ CO2 ต่ออายุการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง การทดลองที่ 3 ศึกษาผลของอายุการเก็บเกี่ยวและปริมาณ CO2 ต่ออายุการเก็บรักษากล้วยไข่ที่อุณหภูมิ 16 °C และการทดลองที่ 4 ศึกษาผลของอายุการเก็บเกี่ยวและปริมาณ CO2 ต่อพัฒนาการสุกหลังอายุการเก็บรักษาต่างกัน นำมาบ่มที่อุณหภูมิห้อง การทดลองที่ 1 พบว่า กล้วยไข่ที่อายุการเก็บเกี่ยว 35 วัน ใช้เวลาพัฒนาการสุกนานที่สุด คือ 25.25 วัน ส่วนกล้วยไข่ที่อายุการเก็บเกี่ยว 44 วัน ใช้เวลา 20.66 วัน และทุกวิธีการมีปริมาณ TSS หลังการสุกไม่แตกต่างทางสถิติ การทดลองที่ 2 พบว่า กล้วยไข่ที่อายุการเก็บเกี่ยว 35 วัน + CO2 0 เปอร์เซ็นต์ มีอายุการเก็บรักษานานที่สุดคือ 22.22 วัน ส่วนกล้วยไข่ที่อายุการเก็บเกี่ยว 41 วัน + CO2 9 เปอร์เซ็นต์ มีอายุการเก็บรักษาสั้นที่สุดคือ 16.10 วัน และทุกวิธีการมีปริมาณคลอโรฟิลล์ลดลงตามอายุการเก็บรักษาที่เพิ่มขี้น การทดลองที่ 3 พบว่า กล้วยไข่ที่อายุการเก็บรักษา 35 วัน + CO2 0 เปอร์เซ็นต์ เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 16 °C มีอายุการเก็บรักษาสูงสุดคือ 60.55 วัน มีปริมาณ TSS เพิ่มขึ้นตามอายุการเก็บรักษาที่เพิ่มขั้นและผลกล้วยไข่ที่มีอายุการเก็บเกี่ยว 44 วัน + CO2 9 เปอร์เซ็นต์ มี TSS สูงสุดเฉลี่ย 22.97 brix ปริมาณคลอโรฟิลล์ลดลงตามอายุการเก็บรักษาที่เพิ่มขึ้น ผลกล้วยไข่อายุการเก็บเกี่ยว 35 วัน + CO2 0 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณคลอโรฟิลล์สูงสุด 2.01 มก./ก. ส่วนผลกล้วยไข่อายุการเก็บเกี่ยว 44 วัน + CO2 11 เปอร์เซ็นต์ มีคลอโรฟิลล์ต่ำสุด 0.61 มก./ก. หลังการบ่มผลกล้วยไข่ทุกอายุการเก็บเกี่ยวมีคุณภาพเหมาะสมต่อการรับประทาน การทดลองที่ 4 พบว่า กล้วยไข่ที่อายุการเก็บเกี่ยว 35 วัน + CO2 0 และ 3 เปอร์เซ็นต์ เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 16 °C หลังการเก็บรักษา 10 วัน ใช้เวลาการพัฒนาการสุกยาวที่สุดเฉลี่ย 6.33 วัน อายุการเก็บรักษาเพิ่มขึ้น เวลาการพัฒนาการสุกจะลดลงหลังการเก็บรักษา 30 วัน กล้วยไข่อายุการเก็บเกี่ยว 44 วัน + CO2 3, 5, 7, 9 และ 11 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาการพัฒนาการสุกสั้นที่สุดคือ 1 วัน หลังการบ่มที่อุณหภูมิห้อง กล้วยไข่ทุกอายุการเก็บรักษามีคุณภาพเหมาะสมต่อการรับประทาน