อิทธิพลของเอนไซม์หลังการเก็บเกี่ยวต่อการหลุดจากก้านของผลของกล้วยหอมทอง Musa (AAA Group, Gros Michel)
ประสาร ฉลาดคิด
วิทยานิพนธ์ (วท.ม.) สาขาวิชาเทคโนโลยีทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536. 140 หน้า.
2536
บทคัดย่อ
อิทธิพลของเอนไซม์หลังการเก็บเกี่ยวต่อการหลุดจากก้านผลของกล้วยหอมทอง Musa (AAA, Group, Gros Michel)
ได้ทำการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของเอนไซม์ย่อยสลายผนังเซลล์และแป้งกับการผลิตเอทธิลีนและความแน่นเปลือก ซึ่งเกี่ยวกับการเกิดอาการหลุดจากก้านของผลกล้วยหอมทอง
Musa(AAA, Group, Gros Michel) โดยกระตุ้นผลกล้วยหอมทองด้วยเอทธิลีน 10 ppm เป็นเวลา 12 ชั่วโมง แล้วจึงนำไปบ่มที่อุณหภูมิ 24(
+2)°C จะพบว่าในขณะบ่มผลกล้วยมีการผลิตเอทธิลีนเพิ่มขึ้น และความแน่นของเปลือกจะลดลงอย่างรวดเร็วกว่าผลกล้วยที่ไม่ถูกกระตุ้นด้วยเอทธิลีน สารละลาย GA
3 900 ppm จะมีผลน้อยต่อการผลิตเอทธิลีน การใช้ CaCl
2 (10-90%) ทำให้อัตราการผลิตเอทธิลีนต่ำลง และสามารถยับยั้งการลดลงของความแน่นเปลือกได้ ทำให้เกิดลักษณะจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วผิวเปลือก การใช้เอทไธโอนีนและเมทไธโอนีนจะไม่มีผลกระทบต่อการผลิตเอทธิลีน และความแน่นเปลือก สำหรับพาราฟินเหลวและ Sta Fresh 7055 สามารถยับยั้งการสังเคราะห์เอทธิลีนและการลดลงของความแน่นเปลือกได้ การใช้ GA
3 (900 ppm), AVG (200 และ 500 ppm) พาราฟินเหลว และ Sta Fresh 7055 ทาบริเวณก้านและเปลือกที่อยู่ติดกับก้านผลก่อนกระตุ้นด้วยเอทธิลีนสามารถลดการเกิดอาการหลุดจากก้านของผลกล้วยหอมทองได้ โดยสารต่างๆ นี้จะยับยั้งการผลิตเอทธิลีนและการลดลงของความแน่นเปลือก การศึกษาถึงแอคติวิตีของเอนไซม์ที่เกิดขั้นระหว่างการสุก 3 ชนิด พบว่า แอคติวิตีของเอนไซม์เซลลูเลส แอลฟาอะมัยเลส จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระหว่างการสุกซึ่งการเพิ่มของเอนไซม์ทั้ง 2 ชนิดนี้เกิดในขณะเดียวกับการเพิ่มปริมาณการผลิตเอทธิลีน ในขณะที่แอคติวิตีของเอนไซม์เพคตินเมธิลเอสเตอเรสจะมีเพิ่มในอัตราที่ช้ากว่าเอนไซม์เซลลูเลส และแอลฟาอะมัยเลส ตลอดช่วงระยะเวลาของการสุก การใช้ AVG, พาราฟินเหลว และ Sta Fresh 7055 จะมีผลต่อเอนไซม์ภายหลังการเก็บเกี่ยวทั้ง 3 ชนิด ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้ในการยับยั้งการหลุดจากก้านของผลกล้วยหอมทองได้