ประสิทธิภาพของเมทิลโบรไมด์ในการกำจัดศัตรูกล้วยไม้ก่อนการส่งออก
จำลอง ลภาสาธุกุล
วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ สาขาวิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 69 หน้า
2538
บทคัดย่อ
ประสิทธิภาพของเมทิลโบรไมด์ในการกำจัดศัตรูกล้วยไม้ก่อนการส่งออก
กล้วยไม้เป็นสินค้าส่งออกหลักในกลุ่มของไม้ดอกไม้ประดับ ในการส่งออกกล้วยไม้นั้นมักมีศัตรูพืชติดไปกับสินค้า ถึงแม้ว่าผู้ส่งออกจะได้มีการคัดเลือกกล้วยไม้ที่มีคุณภาพดีปราศจากโรคและศัตรูพืช แต่ศัตรูพืชซึ่งอยู่ในระยะไข่หรือในระยะการเจริญเติบโตวัยแรกๆ มักปะปนไปกับสินค้า การใช้สารรมเมทิลโบรไมด์เป็นวิธีการกำจัดศัตรูพืช ซึ่งนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางแต่มีข้อจำกัดในการรมผลิตผลพืชสดซึ่งอาจเกิดผลกระทบกับคุณภาพของสินค้าได้ การศึกษาการใช้สารรมเมทิลโบรไมด์ (ชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของ 2% คลอโรพิคลิน) ในตู้รมยาขนาด 0.5 ลูกบาศก์เมตร ในการกำจัดศัตรูกล้วยไม้ก่อนการส่งออกพบว่าที่อัตรา 24 กรัม/ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลารมนาน 2 ชั่วโมง สามารถกำจัดเพลี้ยแป้ง (
Pseudococcus sp.) และไร (
Tenuilpalpus pacificus Baker) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาผลกระทบของสารรมเมทิลโบรไมด์ที่มีต่อต้นกล้วยไม้นั้น พบว่า Brassolaelio cattleya Alma Kee, Vanda Gordon Dilllon, Vanda Sunsai Blue และต้นกล้วยไม้ในกระถางนิ้วของ Dendrobium Hawiian Brown นั้นสามารถทนทานต่อสารรมได้ถึงอัตรา 40 กรัม/ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลารมนาน 2 ชั่วโมง โดยไม่ปรากฏอาการให้เห็น แต่ต้นกล้วยไม้ Dendrobium Hawaiian Brown ขนาดก่อนออกดอก และขนาดออกดอกนั้นไม่แสดงอาการของผลกระทบให้เห็นที่อัตรา 24 กรัม/ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลารม 2 ชั่วโมง แต่จะแสดงอาการให้เห็นที่อัตรา 32 และ 40 กรัม/ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลารม 2 ชั่วโมง โดยใบล่างเหลืองและร่วงในเวลาต่อมา และต้นกล้วยไม้ฟื้นตัวขึ้นเมื่อปลูกในโรงเรือน