การศึกษาปริมาณแคปไซซินและแคโรทีนอยด์ในผลของพริกปลูกในประเทศไทย
วัยวรรธน์ บุณยมานพ
วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต เภสัชศาสตร์ สาขาวิชาเภสัชเวช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 80 หน้า
2536
บทคัดย่อ
การศึกษาปริมาณแคปไซซินและแคโรทีนอยด์ในผลของพริกปลูกในประเทศไทย
สาระสำคัญ 2 ชนิดที่มีอยู่ในผลพริก (
Capsicum spp. วงศ์ Solanaceae) ที่สามารถบ่งบอกถึงคุณภาพของพริกที่ใช้เป็นสิ่งปรุงแต่งอาหาร คือ capsaicin (สารที่ให้รสเผ็ดร้อน) และ carotenoids (สารให้สี) ในการประเมินคุณภาพของผลพริกที่ปลูกในประเทศไทยได้มีการพัฒนาเทคนิคของ HPLC เพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณ capsaicin และเทคนิคของ visible spectrophotometry เพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณ carotenoids ในการวิเคราะห์หาปริมาณ capsaicin นั้น เริ่มจากการสกัดผลพริกโดยใช้วิธีการสกัดโดยใช้คลื่นเสียง (sonication) และทำให้สารสกัดหยาบบริสุทธิ์ขึ้นโดยเทคนิคของ Solid-phase extraction และทำการวิเคราะห์โดย HPLC ตัวอย่างผลพริกที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ประกอบด้วยพริกทั้งสองพันธุ์ของ
Capsicum spp. คือ
C. frutescens และ
C. annuum ซึ่งเก็บมาจากแหล่งต่างๆ ที่ปลูกในทุกภาคของประเทศไทย ผลการทดลองที่ได้พบว่า
C. frutescens ให้ปริมาณ capsaicin อยู่ในช่วง 0.47-0.79% ต่อน้ำหนักแห้ง ส่วน
C. annuum พบว่าปริมาณ capsaicin อยู่ในช่วง 0.00-0.53% ต่อน้ำหนักแห้ง สำหรับปริมาณ carotenoids ที่วัดโดย visible spectrophotometry นั้นพบว่า
C. frutescens ให้ปริมาณ carotenoids อยู่ในช่วง 0.23-0.48% ต่อน้ำหนักแห้ง ส่วน
C. annuum พบว่าปริมาณ carotenoids อยู่ในช่วง 0.06-0.55% ต่อน้ำหนักแห้ง วิทยานิพนธ์นี้เป็นปฐมนิพนธ์ที่ศึกษาเกี่ยวกับปริมาณของสารสำคัญทั้งสองชนิดนี้ในผลพริกที่ปลูกในประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ได้สามารถนำมาสรุปและนำไปใช้ในการคัดเลือกพริกที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาดได้