บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาวิธีการวัดเพื่อตรวจจับการเกิดยางและเนื้อแก้วขึ้นในผลมังคุด

ฤทธิศักดิ์ จริตงาม

วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต (วศ.ม.(วิศวกรรมไฟฟ้า)) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2543. 96 หน้า.

2543

บทคัดย่อ

การศึกษาวิธีการวัดเพื่อตรวจจับการเกิดยางและเนื้อแก้วขึ้นในผลมังคุด             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการศึกษาวิธีการวัดเพื่อตรวจจับการเกิดยางและเนื้อแก้วขึ้นในผลมังคุด โดยได้ประยุกต์ใช้วิธีการทางไฟฟ้าในการคัดแยกมังคุดที่มีปัญหา ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากในปัจจุบันการส่งออกมังคุดมีปัญหาเกี่ยวกับการเกิดยางไหลและเกิดเนื้อแก้วขึ้นภายในผลมังคุด ซึ่งทำให้คุณภาพของมังคุดสำหรับการส่งออกมีคุณภาพต่ำส่งผลให้ราคาขายของมังคุดต่ำลงด้วย ดังนั้นเพื่อที่จะลดปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีการคัดแยกมังคุดที่เกิดยางไหลและเนื้อแก้วไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากภายนอกผลมังคุด จะต้องทำการผ่าผลมังคุดดูเท่านั้นจึงจะทราบได้ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เกิดความล่าช้าและทำให้มูลค่าของมังคุดลดลง ดังนั้นการตรวจจับการเกิดยางไหลและเนื้อแก้วภายในผลมังคุดได้โดยไม่ต้องผ่าผลมังคุดดูจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการส่งออกมังคุด วิธีการวัดทางไฟฟ้าที่จะนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการตรวจจับในที่นี้มีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน คือ 1. วิธีการวัดค่าอิมพิแดนซ์ 2. วิธีการวัดความสามารถในการดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟ 3. วิธีการวัดสัญญาณเสียงที่เกิดจากการเคาะ จากการพิจารณาผลการคัดแยกด้วยวิธีการวัดทั้ง 3 วิธี เปรียบเทียบกับวิธีการลอยน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้มีผู้เสนอไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าเหมาะสำหรับใช้คัดแยกผลมังคุดที่เน่าออกได้ โดยสามารถคัดแยกได้ถูกต้องถึง 83% ส่วนวิธีการวัดความสามารถในการดูดกลืนคลืนไมโครเวฟนั้นสามารถใช้คัดแยกมังคุดที่มีปัญหาได้เช่นกัน แต่เปอร์เซ็นต์ความถูกต้องยังมีค่าต่ำมากและวิธีสุดท้ายคือวิธีการวัดสัญญาณเสียงที่เกิดจากการเคาะ ซึ่งวิธีนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น 2 วิธีด้วยกันคือ วิธีการวิเคราะห์กำลังเชิงสเปคตรัมและวิธีการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์ออโตรีเกรสชีฟ ซึ่งวิธีการวิเคราะห์กำลังเชิงสเปคตรัมสามารถใช้คัดแยกมังคุดที่ดีได้ถูกต้องถึง 89% ขณะที่วิธีการลอยน้ำสามารถคัดแยกได้ 85% และวิธีการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์ออโตรีเกรสชีฟสามารถใช้คัดแยกมังคุดที่เกิดยางไหลได้ถูกต้องถึง 80% ในขณะที่วิธีการลอยน้ำสามารถคัดได้เพียง 40% และนอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อนำวิธีการลอยน้ำ วิธีการวิเคราะห์กำลังเชิงสเปคตรัมและวิธีการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์ออโตรีเกรสชีฟมาทำการวิเคราะห์ร่วมกันจะสามารถใช้คัดแยกมังคุดทั้งผลดีและผลเสียได้ถูกต้องมากขึ้นกว่าทุกๆ วิธี โดยมีความถูกต้องประมาณ 78%