ความเสียหายของมังคุดเมื่อได้รับแรงกระแทก
ชลทิศา พีระประสมพงศ์
วิทยานิพนธ์ (วท.ม.(เทคโนโลยีอาหาร)) สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2540. 159 หน้า.
2540
บทคัดย่อ
ความเสียหายของมังคุดเมื่อได้รับแรงกระแทก
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้านทานการเสียหายเชิงกลของมังคุดที่รับภาระแบบกระแทก ศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของมังคุดที่เสียหายที่อายุการเก็บต่างๆ และศึกษาถึงวัสดุรองรับที่สามารถลดแรงกระแทกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม จากเครื่องมือที่ออกแบบโดยอาศัยหลักการคงตัวของพลังงาน ใช้มังคุดระยะที่ 4 (ผิวสีแดงหรือน้ำตาลอมแดง)มวลขนาดเล็ก (60-80 กรัม), กลาง (81-100 กรัม) และใหญ่ (101-130 กรัม) ปล่อยให้ตกกระแทกด้วยความเร็ว 7 ระดับ ได้แก่ ความเร็วที่ระดับสูง 10, 15, 20, 25, 30, 35 และ 40 ซม. และใช้มังคุดที่ไม่ถูกกระแทกเป็นชุดควบคุม และศึกษาถึงประสิทธิภาพของวัสดุรองรับต่อความเสียหายของมังคุดและอายุการเก็บรักษาโดยใช้มังคุดระยะที่ 4 มวลขนาด 100(
+15) กรัม ปล่อยให้ตกกระแทกด้วยพลังงาน 3 ระดับ คือ ที่ระดับความสูง 20, 40 และ 60 ซม. ขณะมีและไม่มีวัสดุรองรับ (แผ่นโฟมโพลีสไตรีนและกระดาษหลุม) เก็บรักษานาน 20 วัน ที่อุณหภูมิห้อง โดยเก็บตัวอย่างทุก 5 วัน พบว่าความเสียหายของมังคุดจะขึ้นอยู่กับพลังงานดูดกลืน ซึ่งเซลล์ของเปลือกมังคุดมีความต้านทานพลังงานกระแทกระดับหนึ่ง ถ้าเกินระดับที่เซลล์ทนได้ เซลล์จะเกิดบาดแผลและส่งผลต่อเนื่องทำให้เปลือกแข็ง พลังงานกระแทกสามารถทะลวงเข้าไปทำลายเนื้อมังคุดให้เสียหายได้โดยที่เซลล์เปลือกบางส่วนยังไม่ถูกทำลาย ความเสียหายของมังคุดจะขึ้นอยู่กับพลังงานที่มังคุดดูดกลืนอย่างมาก โดยความเสียหายจะเกิดในลักษณะของเปลือกแข็งเป็นหลัก รองลงมาคือ เนื้อเสียหาย ซึ่งเนื้อมังคุดที่เสียหายจะมีสีเข้มขึ้น และมีปริมาณกรดทั้งหมดและน้ำตาลทั้งหมดต่ำกว่าปกติ อายุการเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความเสียหายของมังคุดรุนแรงขึ้นตามลำดับ วัสดุรองรับที่สามารถลดความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมคือแผ่นโฟมโพลีสไตรีน โดยจะลดพลังงานที่มังคุดดูดกลืนได้ 3-12 เท่า ซึ่งผลการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสพบว่าผู้บริโภคยอมรับมังคุด (ขนาด 100(
+15) กรัม ขณะใช้แผ่นโฟมรองรับ) ที่ได้รับพลังงานกระแทกไม่เกิน 0.397 จูล (ความสูงไม่เกิน 40 ซม.) ที่อายุการเก็บไม่เกิน 15 วัน