บทคัดย่องานวิจัย

ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของการผลิตลำไยนอกฤดูกาล

ณัฏฐพล ยั่งยืน

วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต เศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 173 หน้า

2543

บทคัดย่อ

ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของการผลิตลำไยนอกฤดูกาล  การผลิตลำไยของประเทศไทยส่วนมากจะประสบกับปัญหาในเรื่องของผลผลิตไม่สม่ำเสมอ จากการค้นพบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูกาล โดยใช้สารประกอบในกลุ่มคลอเรท ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและการพัฒนาการผลิตลำไยของประเทศไทยเป็นอย่างมาก การศึกษานี้มุ่งที่จะศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการผลิตลำไย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงประสิทธิภาพของการใช้ปัจจัยการผลิตของเกษตรกรที่ทำการผลิตลำไยตามฤดูกาลและเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูกาล และผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูกาล โดยวิเคราะห์ผ่านฟังก์ชันต้นทุนการผลิตแบบ Transcendental Logarithmic Function จากผลการศึกษาพบว่า การผลิตลำไยของเกษตรกรที่ทำการผลิตตามฤดูกาลและเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตนอกฤดูกาลต่างอยู่ในระยะผลตอบแทนต่อขนาดเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพทางเทคนิคระหว่างการผลิตลำไยตามฤดูกาลกับการผลิตลำไยนอกฤดูกาล ปรากฏว่าการใช้ปัจจัยการผลิตชนิดต่างๆ ในการผลิตลำไยนอกฤดูกาลมีประสิทธิภาพมากกว่าการผลิตลำไยตามฤดูกาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรได้ และทำให้การผลิตลำไยของเกษตรกรมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูกาล โดยพิจารณาเปรียบเทียบส่วนเกินของผู้ผลิตของเกษตรกรที่ทำการผลิตลำไยตามฤดูกาลและส่วนเกินของผู้ผลิตของเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูกาล พบว่าส่วนเกินของผู้ผลิตอของเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูกาลมีค่ามากกว่าส่วนเกินของผู้ผลิตของเกษตรกรที่ทำการผลิตลำไยตามฤดูกาล แสดงว่าการใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูกาลจะช่วยให้ผู้ผลิตหรือเกษตรกรได้รับค่าสวัสดิการสังคมมากกว่าการผลิตลำไยตามฤดูกาล อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ได้มุ่งเน้นที่จะศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูกาลมาใช้ในการผลิต โดยมิได้รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นที่สมควรที่ได้ทำการศึกษาต่อไป