บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์ระบบการขนส่งข้าว และกระเทียมจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังกรุงเทพฯ

สิทธิพงศ์ ปรีชา

วิทยานิพนธ์ (วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537. 256 หน้า.

2537

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์ระบบการขนส่งข้าว และกระเทียมจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังกรุงเทพฯ  จุดประสงค์การของวิจัยเรื่องนี้เพื่อที่จะสำรวจระบบการขนส่งข้าวและกระเทียม จากเกษตรกรในพื้นที่ศึกษาอำเภอสันป่าตอง และอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ถึงผู้ประกอบการส่งออกในกรุงเทพฯ และศึกษาถึงลักษณะทางกายภาพของ รถยนต์บรรทุก/คอนเทนเนอร์, โครงข่ายถนน, เทอมินอล, และผู้ประกอบการขนส่ง วิเคราะห์หาค่าใช้จ่ายในการวิ่งรถบรรทุกโดยอาศัยโปรแกรม DHM III เปรียบเทียบกับค่าระวางบรรทุกของผู้ประกอบการขนส่ง

ผลการวิจัยพบว่า ระบบการขนส่งข้าวและกระเทียมในจังหวัดเชียงใหม่มีระบบทางตลาดที่ซับซ้อน มีผู้ประกอบการหลายระดับ คือ เกษตรกร , พ่อค้าในหมู่บ้าน, พ่อค้าในเมือง, พ่อค้าต่างจังหวัด และพ่อค้าในกรุงเทพฯ ในส่วนของข้าวจะมี สหกรณ์ข้าว, โรงสีในหมู่บ้าน และโรงสีในเมือง เป็นผู้ประกอบการหลัก และมีบทบาทสำคัญในระบบดังกล่าว การขนส่งจะเกิดขึ้นหลังจากที่เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ตั้งแต่ในที่นาหรือแปลงเพาะปลูกจนถึงกรุงเทพฯ ในระดับเกษตรกรและพ่อค้าในหมู่บ้านจะนิยมใช้รถปิคอัพในการขนส่งระยะทางสั้นๆ จากทุ่งนาถึงหมู่บ้าน และจากหมู่บ้านถึงในเมือง เป็นต้น ส่วนรถบรรทุก 6 ล้อ และรถบรรทุก 10 ล้อ จะใช้ขนส่งระหว่างภูมิภาค

ค่าระวางบรรทุกโดยเฉลี่ย สำหรับการขนส่งข้าวด้วย รถปิคอัพ, รถบรรทุก 6 ล้อ และรถบรรทุก 10 ล้อ มีค่าประมาณ 11.10, 0.84 และ 0.48 บาท/ต้น/กม. ส่วนการขนส่งกระเทียมด้วยรถปิคอัพ, รถบรรทุก 6 ล้อ และรถบรรทุก 10 ล้อ มีค่า 2.42, 0.81 และ 1.04 บาท/ต้น/กม. เมื่อเปรียบเทียบกับค่า VOC ที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วย HDM III ของรถปิคอัพ, รถบรรทุก 6 ล้อ และรถบรรทุก 10 ล้อ ซึ่งมีค่า 1.60, 0.72 และ 0.83 บาท/ต้น/กม. ตามลำดับ พบว่าในการขนส่งระยะทางสั้นๆ โดยใช้รถปิคอัพจะมีประสิทธิภาพต่ำเพราะมีค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าเสื่อมราคา และค่ายกสินค้าขึ้นลงมีค่าสูง และส่วนการขนส่งด้วยรถบรรทุก 10 ล้อ ในระยะทางไกลจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ พบว่าค่าระวางบรรทุกมีค่าต่ำกว่าค่า VOC มาก ถือว่าในการขนส่งระดับนี้ มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะว่ามีระดับการแข่งขันที่สูง สำหรับข้อเสนอแนะในการปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพ สามารถทำได้โดยการปรับปรุงถนนที่เข้า – ออกหมู่บ้านของเกษตรให้มีประสิทธิภาพดี และปรับปรุงในส่วนของระบบการเคลื่อนย้ายสินค้า และเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการยกสินค้าทที่เทอมินอลให้มีประสิทธิภาพ