การศึกษาเพื่อปรับปรุงการตากแผ่ข้าวหลังการเก็บ และการชะลอการเสื่อมคุณภาพข้าวเปลือกความชื้นสูงในระดับเกษตรกร
มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รายงานผลการศึกษา การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) , 2538. 91 หน้า
2538
บทคัดย่อ
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
1.เพื่อปรับปรุงวิธีการเก็บเกี่ยวซึ่งทำให้ได้คุณภาพของข้าวเปลือกและข้าวสารที่ดีขึ้น โดยการศึกษาวิธีการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเพื่อชี้นำให้เกิดการผลิตเทคโนโลยี และการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ
2.เพื่อรักษาคุณภาพของข้าวเปลือกภายหลังการเก็บเกี่ยว สำหรับทั้งข้าวเปลือกที่อยู่ในรูปของข้าวฟ่อนและข้าวเปลือกภายหลังการนวด ทั้งนี้โดยการศึกษาร่วมกับเกษตรกรเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมและปฏิบัติได้ แล้วนำไปสาธิตและเผยแพร่ไปสู่แหล่งอื่น
รายงานผลการศึกษาเพื่อปรับปรุงการตากแผ่ข้าวหลังการเก็บเกี่ยว และการชะลอการเสื่อมคุณภาพ ข้าวเปลความชื้นสูงในระดับเกษตรกรฉบับนี้ มีสาระสำคัญโดยสังเขปดังต่อไปนี้
การศึกษาเพื่อปรับปรุงการตากแผ่ข้าวหลังการเกี่ยว
จากการศึกษาการตากแผ่ข้าวนาปีหลังการเกี่ยวสามารถสรุปได้ว่า จำนวนวันตากแผ่ข้าวในแปลงแทบจะไม่มีผลกระทบต่อเปอร์เซ็นต์ข้าวสารรวม แต่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิจิต่อเปอร์เซ็นตืข้าวสารเต็มเมล็ดสำหรับเกือบทุกการทดลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีฝนตกในขณะตากแผ่ นอกจากนี้แล้วอัตราการลดลงของเปอร์เซ็นต์ข้าวสารเต็มเมล็ดยังอาจขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าวอีกด้วย โดยที่การตากแผ่ข้าวพันธุ์หอมมะลิในกรณีที่ไม่มีปนตกพบว่า เปอร์เซ็นต์ข้าวสารเต็มเมล็ดลดลง 053% ต่อวันที่ตาก ส่วนในกรณีที่มีฝนตกในช่วงการตากแผ่ เปอร์เซ็นต์ข้าวสารเต็มเมล็ดจะลดลงสูงสุด 0.76 % ต่อวันที่ตาก สำหรับข้าวพันธุ์ กข.7 และลดลงสูงสุด 1.19% ต่อวันที่ตาก สำหรับข้าวพันธุ์ กข.15
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ายินดีว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ตระหนักถึงผลเสียหายของการตากแผ่ข้าวนาปีนานเกินไปว่าจะทำให้ข้าวแห้งกรอบ ซึ่งเมื่อสีเป็นข้าวสารจะได้เปอร์เซ็นต์ข้าวสารเต็มเมล็ดลดลง เกษตรกรส่วนใหญ่ จึงตากแผ่ข้าวหลังการเกี่ยวไว้ในแปลงเป็นระยะเวลาไม่เกิน 4 วัน ยกเว้นบางรายที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะขาดแคลนแรงงานมัดฟ่อน หรือรีบทำกิจกรรมอื่นที่สำคัญและจะส่งผลเสียหายมากกว่า ดังนั้นหากพิจารณาในภาพรวมและความเป็นไปได้ทางปฏิบัติจึงอาจกล่าวได้ว่า การตากแผ่ข้าวหลังการเก็บเกี่ยวไว้ในแปลงที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเปอร์เซ็นต์ข้าวสารเมล็ดเต็มมากนัก นอกจากนี้แล้ว การตากแผ่ข้าวหลังการเก็บเกี่ยวนี้มีแนวโน้มที่จะลดลงตามลำดับ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บเกี่ยวจากการไใช้แรงงานคนไปใช้เครื่องเกี่ยวนวดกันมากขึ้น
การศึกษาการบังแดดกองข้าวฟ่อน
การศึกษาการบังแดดกองข้าวฟ่อน เป็นการศึกษาเบื้องต้นซึ่งกระทำกับข้าวพันธุ์หอมมะลิเพียงพันธุ์เดียว แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าในขณะที่รวมกองข้าวฟ่อนเพื่อรอการนวดนี้ หากฟ่อนข้าวได้รับแสงแดดโดยตรงเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจะทำให้ข้าวแห้งกรอบ ซึ่งเมื่อสีเป็นข้าวสารจะได้เปอร์เซ็นต์ข้าวสารเต็มเมล็ดลดลง แต่หากมีการบังแดดกองข้าวฟ่อนจะทำให้ได้เปอร์เซ็นต์ข้าวสารเต็มเมล็ดมากขึ้น ดังนั้นเกษตรกรจึงควรรีบทำการนวดข้าวฟ่อนโดยเร็ว หรือในกรณีที่ต้องรอนวดข้าวเป็นระยะเวลานาน ควรรวมกองข้าวฟ่อนไว้ในที่ร่ม ควรรวมกองข้าวฟ่อนไว้ในที่ร่ม มีเทคนิคการกองที่ดี หรือมีการบังแดดกองข้าวฟ่อน เพื่อไม่ให้แสงแดดกระทบต่อข้าวมากเกินไป จนทำให้ข้าวแห้งกรอบ
การศึกษาการชะลอการเสื่อมคุณภาพข้าวเปลือกความชื้นสูงในระดับเกษตรกร
จากการศึกษาเพื่อหาวิธีการชะลอการเสื่อมคุณภาพข้าวเปลือกความชื้นสูง ในระดับเกษตรกร ในขณะที่มีฝนตก ซึ่งจะเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ในโรงเรือนกันฝน ก่อนที่จะนำไปดำเนินการลดความชื้นในลำดับต่อไป สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้
1.การทำให้ข้าวเปลือกความชื้นสูงไหลเวียน พร้อมทั้งมีการเป่าอากาศเพื่อระบายความร้อนออกจากข้าว นอกจากจะช่วยรักษาคุณภาพของข้าวภายหลังการสีแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดความชื้นของข้าวเปลือกอีกด้วย แต่วิธีการนี้ต้องการอุปกรณ์ในการดำเนินการที่ราคาค่อนข้างสูง จึงอาจไม่เหมาะกับเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากมีปริมาณการใช้งานน้อย แต่อาจจะเหมาะกับผู้ประกอบการที่มีการรับซื้อข้าวเป็นปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง
2.การพลิกข้าวเปือกความชื้นสูง เป็นระยะๆ พร้อมทั้งระบายอากาศ จะช่วยรักษาคุณภาพข้าวภายหลังการสี โดยที่คุณภาพของข้าวไม่ต่างไปจากข้าวซึ่งไหลเวียนพร้อมทั้งระบายอากาศตลอดเวลา วิธีการนี้เป็นวิธีการซึ่งมีแนวโน้มที่เกษตรกรจะสามารถปฏิบัติได้ เพื่อเป็นทางเลือกในกรณีที่ผู้รับซื้อข้าวเปลือกไม่ยินยอมรับซื้อข้าวเปลือกความชื้นสูง ในช่วงที่มีฝนตก หรือยินยอมรับซื้อแต่กดราคามากเกินไป การดำเนินงานตามวิธีดังกล่าวจำเป็นต้องมีโรงเรือนกันฝนซึ่งมีพื้นที่สำหรับกองข้าวขนาดประมาณ 3 เท่าของขนาดกองข้าว ทั้งนี้เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการพลิกกลับ ในกรณีที่มีข้าวปริมาณมากอาจใช้อุปกรณ์สำหรับพลิกกลับเพื่อช่วยในการดำเนินงาน อุปกรณ์ดังกล่าวนี้เป็นอุปกรณ์แบบง่ายๆ ซึ่งประกอบด้วย สายพานลำเลียง และต้นกำลัง เป็นหลักหรืออาจมีพัดลมเป่าอากาศด้วย ก็จะทำให้สามารถระบายความร้อนออกจากกองข้าวได้ดียิ่งขึ้น