บทคัดย่องานวิจัย

การตรวจวัดคุณภาพของผลผลิตเกษตรแบบไม่ทำลาย

ธงชัย ยันตรศรี และคณะ

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการ เสนอต่อสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่. 2542. 49 หน้า

2542

บทคัดย่อ

การตรวจวัดคุณภาพของผลผลิตเกษตรแบบไม่ทำลาย ผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบันและจะยิ่งมีบทบาทและความสำคัญต่อไปในอนาคต ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจสอบคุณภาพภายในแบบไม่ทำลายผลขึ้นมาหลายเทคนิค เพื่อทดแทนวิธีการสุ่มตัวอย่างผลิตผลผ่าตรวจสอบ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลาย เทคนิคการตรวจสอบคุณภาพได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เทคนิคที่ใช้เทคโนโลยีที่ไม่สลับซับซ้อน เช่น การใช้ค่าความถ่วงจำเพาะ ไปจนถึงเทคนิคที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคนิค Nuclear Magnetic Resonance (NMR)

การวิจัยครั้งนี้ มุ่งศึกษาการนำเทคนิคการตรวจสอบคุณภาพแบบไม่ทำลายแบบต่างๆ มาใช้ตรวจสอบคุณภาพภายในผลิตผลทางการเกษตรหลายชนิด เทคนิคที่นำมาใช้ตรวจสอบ ได้แก่การใช้แสงที่มองเห็นได้ การวัดความแน่นเนื้อ การวัดคุณสมบัติทางไฟฟ้า และการสร้างภาพตัดขวางด้วยเครื่อง X-ray Computed Tomography (X-ray CT) โดยนำมาใช้ตรวจสอบอาการฟ่ามของผลส้ม ระดับความสุกของผลฝรั่ง ระดับความแก่และลักษณะอาการผิดปกติภายในผลมะม่วง ตลอดจนลักษณะความสุกฉ่ำและลักษณะอาการผิดปกติภายในผลสับปะรด หลังจากการตรวจสอบด้วยเทคนิคแบบไม่ทำลายจะทำการผ่าผลเพื่อตรวจสอบลักษณะภายใน ตรวจสอบคุณสมบัติทางกายภาพ และองค์ประกอบทางเคมี

จากผลการวิจัยพบว่าอาการผลส้มฟ่ามสามารถตรวจสอบได้แบบไม่ทำลายโดยใช้คุณวมบัติของแสงในช่วงคลื่นที่มองเห็นได้ โดยผลส้มที่ฟ่ามดูดกลืนแสงได้มากกว่าผลปกติ ขณะที่เทคนิค X-ray CT สามารถตรวจสอบความฟ่ามได้ละเอียดมากกว่า และสามารถแสดงตำแหน่งที่เกิดอาการฟ่ามในแต่ละผล การตรวจสอบระดับความสุกของผลฝรั่งโดยวัดความแน่นเนื้อด้วย Magness Taylor Probe ติดตั้งบน Instron 5500 พบว่าสามารถแยกระดับความสุกได้ดี เมื่อกดแบบไม่ทำลายที่ระยะกด 0.5 มิลลิเมตร หลังจากนั้นยังสามารถนำไปเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิ 5 ° C ได้นาน 5 วัน โดยผลยังคงสภาพดีไม่เกิดการบอบซ้ำ สำหรับการตรวจสอบระดับความแก่และลักษณะอาการผิดปกติภายในของผลมะม่วงโดยใช้คุณสมบัติทางไฟฟ้า พบว่าค่า Capacitance ของผลมะม่วงแก่มีค่าน้อยกว่าผลสุกอย่างชัดเจน ส่วนค่า Resistance ของผลมะม่วงแก่มีค่ามากกว่าผลสุกเล็กน้อย แต่ทั้งค่า Capacitance และ Resistance ของผลมะม่วงสุกไม่แตกต่างจากผลสุกที่เสียหาย ส่วนเทคนิค X-ray CT สามารถนำมาใช้ตรวจสอบความเสียหายในผลและความเสียหายจากการทำ Vapor heat treatment ได้ เมื่อนำเทคนิค X-ray CT ตรวจสอบความสุกฉ่ำและลักษณะอาการผิดปกติภายในของผลสับปะรดแบบไม่ทำลาย เทคนิคนี้สามารถตรวจสอบความสุกฉ่ำของผลและสามารถแบ่งผลที่สุกต่างกันออกเป็น 2 เกรด โดยทั้ง 2 กลุ่มมีค่า CT number ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถแยกผลช้ำโดยปรากฎรอยช้ำเป็นร่องสีดำในภาพตัดขวางที่ได้ นอกจากนี้ X-ray CT ยังสามารถตรวจสอบผลสับปะรดที่เกิดปัญหาแกนเอียง ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของการคัดคุณภาพผลสับปะรดลงกระป๋อง