การพัฒนาเครื่องอบลำไยทั้งเปลือกด้วยระบบสลับหมุนเวียนลมร้อน
ศุภศักดิ์ ลิมปิติ
รายงานวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่, 2544. 39 หน้า
2544
บทคัดย่อ
การพัฒนาเครื่องอบลำไยทั้งเปลือกด้วยระบบสลับหมุนเวียนลมร้อน
ในงานครั้งนี้ได้พัฒนาเครื่องลดความชื้นแบบสลับทิศทางลมร้อนขึ้นใหม่ เพื่อใช้ในการอบลำไยทั้งเปลือก เครื่องลดความชื้นที่พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยแก้ปัญหาความชื้นของลำไยไม่สม่ำเสมอหลังการอบ และการต้องใช้แรงงานในการกลับลำไย ตลอดจนการแตกบิดเบี้ยวเสียรูปทรงระหว่างการลดความชื้นให้หมดไปได้นอกจากนั้นได้ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวกับขนาดของผลลำไยความลึกในการอบ และช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการสลับลมร้อนโดยใช้เครื่องที่พัฒนาขึ้นนี้ ผลการทดลองพบว่า ลำไยขนาดใหญ่ (เกรด A) จะใช้ระยะเวลาในการอบมากกว่าลำไยเกรด B ที่มีขนาดเล็กกว่า ดังนั้นในการอบลำไย ถ้าต้องการความชื้นสม่ำเสมอทั่วกันในการอบแต่ละชุดควรมีการคัดขนาดลำไยเสียก่อน มิฉะนั้นความชื้นสุดท้ายที่ได้ของลำไยที่มีขนาดผลต่างกันจะไม่เท่ากัน จากการศึกษาผลของความลึกในการลดความชื้นพบว่า ในช่วงแรกของการลดความชื้นลำไยชั้นล่างจะมีความชื้นลดลงเร็วกว่าชั้นกลางและชั้นบน อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ความชื้นสุดท้ายของลำไยทั้ง 3 ชั้นไม่แตกต่างกันทางสถิติ และในการอบด้วยชั้นหนา 60 เซนติเมตร ให้ผลไม่แตกต่างกับการอบที่ความหนา 40 เซนติเมตร ดังนั้นในทางปฏิบัติสามารถลดความชื้นลำไยด้วยความหนา 60 เซนติเมตร ต่อไปเช่นเดิมดังที่เกษตรกรเคยปฏิบัติมา สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสลับลมร้อนพบว่าการสลับลมถี่ให้ผลในการลดความชื้นดีกว่าการสลับลมห่างนั่นคือการสลับลมทุก 6 ชั่วโมง ให้ผลดีกว่าการสลับลมทุก 9 และ 12 ชั่วโมง เนื่องจากการลดความชื้นของลำไยจะสม่ำเสมอทั่วทั้งหมดมากกว่า ในด้านคุณภาพของลำไยหลังการลดความชื้นในเรื่องสีลักษณะปรากฏ และความแข็งกรอบของเมล็ดตลอดจนการยอมรับโดยรวม พบว่า ลำไยที่ลดความชื้นด้วยวิธีสลับลมร้อนมีคุณภาพไม่แตกต่างจากลำไยที่ลดความชื้นด้วยวิธีกลับลำไยจากบนลงล่างที่เกษตรกรใช้อยู่ในปัจจุบัน และไม่มีการแตกหรือบิดเบี้ยวของผลลำไยอีกด้วย ดังนั้นเครื่องลดความชื้นที่พัฒนาขึ้น จึงช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในการลดความชื้นลำไยได้สมตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้