การตรวจคุณภาพของผลส้มและมะม่วงแบบไม่ทำลาย
ธงชัย ยันตรศรี
รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการ เสนอต่อสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่. 2542. 48 หน้า
2542
บทคัดย่อ
การตรวจคุณภาพของผลส้มและมะม่วงแบบไม่ทำลาย
ปัญหาที่สำคัญในการจำหน่ายส้มและมะม่วงทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศคือ คุณภาพของผลที่ผลิตได้สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพผลส้มที่ผลิตในภาคเหนือ มักพบปัญหาอาการผิดปกติทางสรีรวิทยาภายในผลที่สำคัญคือ อาการผลฟ่ามและผลหลวม สำหรับปัญหาการส่งมะม่วงไปยังต่างประเทศมักจะประสบกับปัญหาคุณภาพของผลเมื่อถึงปลายทางไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่ที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงมีความพยายามหาวิธีการหรือเทคนิคต่างๆ เพื่อนำมาช่วยในการปรับปรุงกระบวนการคัดคุณภาพ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ได้รับความสนใจมากคือ การใช้ค่าความถ่วงจำเพาะ จากการวิจัยพบว่าเทคนิคของค่าความถ่วงจำเพาะสามารถนำมาใช้ตรวจสอบอาการผลฟ่ามและหลวมของส้มฟรีมองต์และส้มผิวทองโดยมีความสัมพันธ์ด้วย R2 = 0.75 และ 0.61 ตามลำดับ นอกจากนี้จากผลการวิจัยแสดงว่าเปอร์เซ็นต์น้ำคั้น ความแน่นเนื้อ และปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ อาจสามารถนำมาพัฒนาเป็นการวิเคราะห์คุณภาพของผลส้มฟ่ามและหลวมแบบมาตรฐานได้ การใช้ความถ่วงจำเพาะตรวจสอบผลมะม่วงพันธุ์แรดที่ความแก่แตกต่างกันพบว่ากลุ่มของผลมะม่วงที่มีความแก่ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสุกภายใน 2 วัน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับกลุ่มของผลมะม่วงที่มีความแก่ 95, 85 และ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสุกภายใน 7, 10 และ 12 วัน ตามลำดับ โดยทั้ง 3 กลุ่มหลังนี้ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ดังนั้นเทคนิคทางความถ่วงจำเพาะสามารถใช้คัดแยกมะม่วงที่แก่ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีคุณภาพต่ำออกจากมะม่วงที่มีความแก่ 95-80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีคุณภาพที่ยอมรับได้เมื่อสุก สำหรับผลการใช้ค่าความถ่วงจำเพาะตรวจสอบอาการผิดปกติภายในผลมังคุดพบว่า เทคนิคนี้จะใช้ได้ในพื้นที่ปลูกที่มีฝนตกไม่มาก และควรคัดแยกที่ค่าความถ่วงจำเพาะมากกว่า 1 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการคัดแยกผลปกติออกจากผลผิดปกติได้มากขึ้น