การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อจัดระบบการรับจ้างเก็บเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด
วสุ อุดมเพทายกุล
วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2542. 145 หน้า.
2542
บทคัดย่อ
การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อจัดระบบการรับจ้างเก็บเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบ พัฒนา และทดสอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อจัดระบบการรับจ้างเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ การศึกษาสถานภาพการใช้เครื่องเกี่ยวนวดสำหรับการรับจ้างเก็บเกี่ยวข้าว การออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อจัดระบบการรับจ้างเก็บเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด และการทดสอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้น มีสาระสำคัญของผลการศึกษาดังนี้ 1. เครื่องเกี่ยวนวดที่ประกอบการรับจ้างส่วนใหญ่มาจากเขตพื้นที่อื่น จึงต้องมีนายหน้าเป็นผู้ประสานงานในการเก็บเกี่ยว ซึ่งระบบการรับจ้างในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากพื้นที่ปฏิบัติงานไม่ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ การขาดการประสานงานที่ดีระหว่างนายหน้าและเกษตรกรเจ้าของแปลง นายหน้าบางรายไม่มีการวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ และการใช้งานเครื่องเกี่ยวนวดที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้งานหนักเกินไป และการขาดการซ่อมแซมบำรุงรักษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ในบางครั้งยังพบอุปสรรคจากสภาพอากาศที่ไม่อำนวย 2. การจัดการระบบการรับจ้างเก็บเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการจัดระบบในระดับพื้นที่โดยการจัดสรรพื้นที่ปฏิบัติงานของนายหน้าแต่ละรายให้มีลักษณะติดต่อกันเป็นผืนใหญ่เพื่อลดการขนย้ายเครื่องเกี่ยวนวดโดยไม่จำเป็น ส่วนที่สองคือ การจัดระบบเครื่องนวดเป็นรายเครื่องโดยการหากำหนดการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมให้แกเครื่องเกี่ยวนวด ส่วนแรกสามารถดำเนินการได้โดยนายหน้า และส่วนที่สองเป็นส่วนที่ต้องพิจารณาลำดับการเก็บเกี่ยวให้เหมาะสม พร้อมทั้งอาจมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อสถานการณ์ จึงดำเนินการออกแบบและพัฒนาโปรแกรม KHMP (KKU Harvest Mangement Program) มีหลักการทำงานโดยจัดสรรพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นกลุ่มพื้นที่ที่มีจำนวนวันเก็บเกี่ยวลงตัว แล้วกำหนดการเก็บเกี่ยวของแต่ละแปลงโดยคำนึงถึงความต่อเนื่องในการเก็บเกี่ยวของแต่ละกลุ่มพื้นที่ และให้มีพื้นที่น้อยที่สุดที่ต้องเก็บเกี่ยวนอกช่วงเวลาที่เหมาะสม 3. โปรแกรมพัฒนาขึ้นสามารถช่วยลดจำนวนวันที่ใช้ปฏิบัติงานลงร้อยละ 12.50 ของจำนวนวันที่ใช้ปฏิบัติงานจริง จึงทำให้ความสามารถในการทำงานของเครื่องเกี่ยวนวดสูงขึ้น และยังสามารถลดจำนวนพื้นที่ที่ถูกเก็บเกี่ยวนอกช่วงเวลาที่เหมาะสมลงร้อยละ 12.62 ของจำนวนพื้นที่ที่ปฏิบัติงานทั้งหมดเมื่อเทียบกับข้อมูลการปฏิบัติงานจริง