การเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้น
ชูศักดิ์ ณรงค์ราช
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. (พืชศาสตร์)) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2535. 86 หน้า.
2535
บทคัดย่อ
การเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้น
การศึกษาศักยภาพการเก็บรักษา และการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้น ที่ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา ทำโดยการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ มอ 1 อู่ทอง 1 และกำแพงแสน 1 ในเดือนมีนาคม 2534 เพื่อนำมาเร่งอายุที่ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิ 43 45 และ 47 องศาเซลเซียส นาน 48 72 และ 96 ชั่วโมงและการเก็บรักษาในถุงกระดาษและถุงพลาสติกที่อุณหภูมิห้องและห้องเย็นจนครบ 12 เดือน ผลการทดลองพบว่าเมล็ดพันธุ์ มอ 1 และกำแพงแสน 1 มีความงอก 61.00-66.25 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีเมล็ดแข็งค่อนข้างสูง พันธุ์อู่ทอง 1 มีความงอกสูง 83.75เปอร์เซ็นต์ และมีเมล็ดแข็งน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ทั้งสามพันธุ์มีเมล็ดที่มีชีวิตสูงไม่น้อยกว่า 96.00 เปอร์เซ็นต์ และมีความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์สูง การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวที่ความชื้น 10.00 เปอร์เซ็นต์ ในถุงกระดาษที่อุณหภูมิห้องไม่ควรเก็บนานเกิน 9 เดือน และถ้าต้องการเก็บนาน 12 เดือนต้องเก็บรักษาในถุงพลาสติกหรือเก็บรักษาในห้องเย็น ยกเว้นพันธุ์กำแพงแสน 1 แม้แต่เก็บในห้องเย็นก็ควรเก็บในถุงพลาสติกเพื่อให้เมล็ดพันธุ์ มีความงอกสูงกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ การเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวไม่สามารถลดจำนวนเมล็ดแข็งได้มากนักแต่ก็ทำให้ความมีชีวิต และความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ลดลง การเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ที่อุณหภูมิ 43 องศาเซลเซียส นาน 96 ชั่วโมง ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ให้ค่าสหสัมพันธ์ของความงอกสูงกับเมล็ด พันธุ์ที่เก็บรักษาในถุงกระดาษในอุณหภูมิห้องสูงในระดับ 0.889-0.924 และให้ค่าสหสัมพันธ์สูงกับความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ซึ่งสามารถใช้ประเมินอายุการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในเขตร้อนชื้นของถั่วเขียวทั้งสามพันธุ์ได้