ผลของการใช้สารพาราขวัทและเอธีฟอนเพื่อช่วยเร่งการเก็บเกี่ยว และวิธีการลดความชื้นต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่ปลูกในต้นฤดูฝน
ธีรศักดิ์ ประทีป ณ ถลาง
วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. วิทยาศาสตร์ (เกษตรศาสตร์). พืชไร่นา มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ 119 หน้า
2542
บทคัดย่อ
ผลของการใช้สารพาราขวัทและเอธีฟอนเพื่อช่วยเร่งการเก็บเกี่ยว และวิธีการลดความชื้นต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่ปลูกในต้นฤดูฝน
ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า การเร่งเก็บเกี่ยวที่ระยะแก่เต็มที่ (R8) ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี โดยมีความงอกและความแข็งแรงทั้งก่อนเก็บรักษาและหลังเก็บรักษา 6 เดือน สูงกว่าการเก็บเกี่ยวที่ระยะเก็บเกี่ยวปกติ (HM) การลดความชื้นโดยการอบลมร้อนที่อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกและความแข็งแรงสูงกว่าการตากแดด และจากการศึกษาผลของการใช้พาราขวัทและเอธีฟอนอัตราต่างๆ ต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง พบว่าการพ่นพาราขวัทและเอธีฟอนในระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา (R7) และเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองหลังจากพ่นสาร 3 วันไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ การพ่นพาราขวัทอัตราแตกต่างกันคือ 100, 150 และ 200 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ และเอธีฟอนอัตรา 50, 100 และ 150 กรัม สารออกฤทธิ์ต่อไร่ ไม่ทำให้ความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดแตกต่างกัน จากการศึกษาการผลิตเมล็ดพันธุ์ในแปลงเกษตรกรโดยเปรียบเทียบสารเร่งเก็บเกี่ยวทั้ง 2 ชนิดที่อัตราต่ำ และวิธีการลดความชื้นเมล็ด 3 วิธี คือ วิธีอบในถังอบที่อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส วิธีใช้พัดลมเป่าที่อุณหภูมิห้อง และวิธีการตากแดด โดยศึกษากับถั่วเหลือง 2 พันธุ์ คือ เชียงใหม่ 60 และ สจ.5 ผลการทดลองพบว่า การพ่นพาราขวัททำให้ใบถั่วเหลืองแห้ง และร่วงที่สุด เมล็ดมีความชื้นต่ำกว่าการพ่นเอธีฟอนและไม่พ่นสารพาราขวัทและเอธีฟอน ไม่มีผลต่อความงอกมาตรฐานของเมล็ดถั่วเหลืองทั้ง 2 พันธุ์ที่ตรวจสอบขณะเก็บเกี่ยว การลด ความชื้นทั้ง 3 วิธีไม่มีผลต่อความงอก แต่มีผลต่อความแข็งแรง กล่าวคือ การใช้พัดลมเป่าที่ อุณหภูมิห้องทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีความแข็งแรงสูงกว่าการลดความชื้นอีก 2 วิธี จากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า มีความเป็นไปได้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ สจ.5 ในต้นฤดูฝนในแปลงเกษตรกร โดยสามารถเก็บเมล็ดไว้ปลูกในฤดูแล้งได้ แต่พันธุ์เชียงใหม่ 60 ไม่เหมาะสมที่จะปลูกในต้นฤดูฝนเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์