บทคัดย่องานวิจัย

เทคนิคการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้น

นงเยาว์ รัตนพันธ์

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (พืชศาสตร์)) คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2538. 75 หน้า.

2538

บทคัดย่อ

เทคนิคการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้น การศึกษาเพื่อกำหนดวิธีการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมในการประเมินคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองตามศักยภาพการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้น โดยการใช้เมล็ดพันธุ์ สจ.4 และพันธุ์เชียงใหม่ 60 ปลูกในเดือนมกราคม 2537 ที่ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ในเดือนเมษายน 2537 นำไปทดสอบคุณภาพและเร่งอายุที่อุณหภูมิ 40, 41 และ 42 องศาเซลเซียส นาน 48, 72 และ 96 ชั่วโมง และอุณหภูมิ 41 องศาเซลเซียส นาน 64 ชั่วโมง ในสภาพที่มีความชื้นสัมพัทธ์ 100 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งเก็บรักษาในถุงกระดาษและถุงพลาสติกที่อุณหภูมิห้องและห้องเย็น นาน 12 เดือน โดยมีการทดสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ทุก 3 เดือนผลการทดสอบพบว่า พันธุ์ สจ.4 ให้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ 256 กิโลกรัมต่อไร่ พันธุ์เชียงใหม่ 60 ให้ผลผลิต 328 กิโลกรัมต่อไร่ เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองทั้งสองพันธุ์ที่ได้ มีความงอก 93 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และมีความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ในรูปดัชนีความเร็วในการงอก 22.17-25.57 น้ำหนักแห้งของต้นกล้า 25.38-30.43 มิลลิกรัมต่อต้น ความยาวราก และยอดของต้นกล้า 7.59-11.30 และ 6.90-8.26 เซนติเมตร ตามลำดับ และมีค่าการนำไฟฟ้าของสารละลายแช่เมล็ด 67.11-86.11 ไมโครโมห์ต่อเซนติเมตรต่อกรัม การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่ความชื้น 6-7 เปอร์เซ็นต์ในถุงกระดาษที่อุณหภูมิห้องนาน 3 เดือน มีความงอกประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์ และลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเก็บรักษานานกว่า 3 เดือน การเก็บในถุงพลาสติกที่อุณหภูมิห้องและการเก็บรักษาทั้งในถุงกระดาษและถุงพลาสติกในห้องเย็น นาน 12 เดือน เมล็ดพันธุ์ยังมีความงอก 84 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเพื่อประเมินอายุ การเก็บรักษา และคุณภาพในเขตร้อนชื้น สามารถใช้อุณหภูมิที่ 41 องศาเซลเซียส นาน 64 ชั่วโมง ความชื้นสัมพัทธ์ 100 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกับที่กำหนดโดยสมาคมนักทดสอบเมล็ดพันธุ์