การเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงที่มีระดับการสุกแก่ต่างกัน
ปาริชาติ พรมโชติ
วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. วิทยาศาสตร์ (พืชไร่) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 254 หน้า.
2543
บทคัดย่อ
การเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงที่มีระดับการสุกแก่ต่างกัน
จากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านสรีรวิทยาและองค์ประกอบทางเคมีของเมล็ดถั่วลิสงพันธุ์เกษตร 1 และไทนาน 9 ที่ระยะสุกแก่ที่ 5-13 โดยพิจารณาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของฝักและเมล็ดร่วมกับสีด้านในของฝักตามการจัดแบ่งของ Pattee และคณะ (1974) พบว่า เมล็ดถั่วลิสง พันธุ์เกษตร 1 และไทนาน 9 สุกแก่ทางสรีรวิทยาในระยะสุกแก่ที่ 11 ขณะที่เมล็ดมีความชื้น 36.37 และ 35.84 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ขนาดและน้ำหนักแห้งของเมล็ด สัดส่วนของน้ำหนักแห้ง ของเมล็ดต่อน้ำหนักแห้งของเปลือก เปอร์เซ็นต์การกะเทาะ และความแข็งแรงของเมล็ดที่วัดโดยวิธีวัดน้ำหนักแห้งของต้นกล้าเพิ่มขึ้นตามการสุกแก่จนเริ่มสูงสุดเมื่อเมล็ดสุกแก่ทางสรีรวิทยา ขณะที่ความชื้นของฝักและเมล็ดลดลงจนเริ่มคงที่เมื่อเมล็ดสุกแก่ทางสรีรวิทยา เมล็ดถั่วลิสงพันธุ์เกษตร 1 และไทนาน 9 มีความมีชีวิตและความงอกสูงสุดที่ระยะสุกแก่ที่ 8 ในขณะที่เมล็ดถั่วลิสงพันธุ์เกษตร 1 มีการพักตัวทุกระยะการสุกแก่และสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ในระยะสุกแก่ ที่ 9-13 โดยเมล็ดอ่อนมีแนวโน้มว่าจะคลายการพักตัวเร็วกว่าเมล็ดสุกแก่ สำหรับพันธุ์ไทนาน 9 ไม่พบการพักตัวของเมล็ดทุกระยะการสุกแก่ ในด้านองค์ประกอบทางเคมีของเมล็ดนั้น การสะสมไขมันเพิ่มขึ้นตามการสุกแก่ ขณะที่การสะสมคาร์โบไฮเดรตลดลง สำหรับองค์ประกอบของกรดไขมันนั้น กรด oleic และ O/L ratio มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่กรด plamitic กรด linoleic กรด arachidic และกรด behenic มีแนวโน้มลดลงเมื่อเมล็ดสุกแก่ ส่วนการสะสมโปรตีนของเมล็ดแต่ละระยะสุกแก่ไม่แตกต่างกัน สำหรับการศึกษาด้านการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงที่สุกแก่ต่างกัน 3 ระดับ โดยพิจารณาสีด้านในของฝักนั้นพบว่า เมล็ดอ่อนมีการเสื่อมคุณภาพเร็วกว่าเมล็ดสุกแก่ปานกลางและเมล็ดสุกแก่ และการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในการเก็บรักษาและเวลาที่ใช้เร่งอายุเมล็ดที่เสื่อมคุณภาพมีความงอกและความแข็งแรงที่วัดจากดัชนีการงอกและความงอกหลังการเร่งอายุต่ำ ส่วนค่าการนำไฟฟ้า ค่ากรดไขมันอิสระ และค่าเปอร์ออกไซด์สูง แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงทั้งปริมาณไขมัน องค์ประกอบของกรดไขมัน และ O/L ratio ระหว่างการเสื่อมคุณภาพ ถึงแม้ว่าเมล็ดอ่อนมีการเสื่อมคุณภาพเร็วกว่าเมล็ดสุกแก่ระดับอื่นแต่เมล็ดอ่อนที่บรรจุในถุงพลาสติกปิดผนึก สามารถเก็บรักษาไว้ได้ 9 เดือนที่อุณหภูมิห้อง โดยยังคงมีความงอกสูงถึง 85 เปอร์เซ็นต์ และมีความงอกในไร่สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จึงสามารถนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ได้ แต่เมล็ดถั่วลิสงที่จะนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ควรมีอายุตั้งแต่ระยะสุกแก่ที่ 8 เป็นต้นไป การศึกษานี้ยังพบว่า การเร่งอายุที่อุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 8 วัน เป็นระยะเวลาการเร่งอายุที่เหมาะสมที่สุดในการวัดความแข็งแรงของเมล็ดถั่วลิสง