บทคัดย่องานวิจัย

การควบคุมการเจริญและการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินของเชื้อรา Aspergillus parasiticus 102566 ในเมล็ดข้าวโพดโดยสารเคมีบางชนิด

กนกรัตน์ ป้องประทุม

วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. วิทยาศาสตร์ (เทคโนโลยีชีวภาพ) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง. 126 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

การควบคุมการเจริญและการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินของเชื้อรา Aspergillus parasiticus 102566 ในเมล็ดข้าวโพดโดยสารเคมีบางชนิด การทดลองนี้เป็นการใช้สารเคมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ โซเดียมคลอไรด์ แอมโมเนียมคาร์บอเนต และโซเดียมไบซัลไฟต์ ที่ความเข้มข้น 1, 2, 3, 4 และ 5 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ 2 ได้แก่ โพแทนเซียมเมตาไบซัลไฟต์ กรดเบนโซอิก และโซเดียมเบนโซเอตที่ความเข้มข้น 0.02, 0.06 และ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ในการควบคุมการเจริญและการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินของเชื้อรา Aspergillus parasiticus 102566 ในอาหาร Malt extract agar อาหารข้าวโพดสกัด และเมล็ดข้าวโพด จากการทดลองพบว่าสารเคมีกลุ่มแรกคือ แอมโมเนียมคาร์บอเนต และโซเดียมไบซัลไฟต์ เป็นสารเคมีที่เหมาะสำหรับใช้ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา A. parasiticus ในอาหาร Malt extract agar และอาหารข้าวโพดสกัด ในด้านการยับยั้งการเจริญของเชื้อราในเมล็ดข้าวโพด สารเคมีในกลุ่มแรกทุกชนิดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยยับยั้งได้นานถึง 28 วัน และเมื่อเพิ่มความเข้มข้นของสารเคมีจะยับยั้งได้ดีขึ้น ส่วนสารเคมีที่ยับยั้งการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินของเชื้อรา A. parasiticus ในเมล็ดข้าวโพดได้ดีที่สุดคือ โซเดียมไบซัลไฟต์ ที่ทุกระดับความเข้มข้นโดยไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ รองลงมาคือ แอมโมเนียมคาร์บอเนตและโซเดียมคลอไรด์ ที่ระดับความเข้มข้น 2 และ 3 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ตามลำดับ สำหรับสารเคมีอีกกลุ่มหนึ่งพบว่า สารเคมีที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา A. parasiticus ในอาหาร Malt extract agar คือ โพแทสเซียมเมตาไบซัลไฟต์ทุกระดับความเข้มข้น รองลงมา คือกรดเบนโซอิกที่ระดับความเข้มข้น 0.06 และ 0.1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับโซเดียมเบนโซเอตให้ผลการยับยั้งเฉพาะที่ความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในอาหารข้าวโพดสกัด สารเคมีที่เหมาะสำหรับการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา A. parasiticus คือ โพแทสเซียมเมตาไบซัลไฟต์ และกรดเบนโซอิกที่ระดับความเข้มข้น 0.02 และ 0.06 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ระดับความเข้มข้น 0.02 เปอร์เซ็นต์ สามารถยับยั้งการเจริญได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ในด้านการยับยั้งเจริญของเชื้อราในเมล็ดข้าวโพดของสารเคมีกลุ่มที่ 2 พบว่า ทุกชนิดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ที่ความเข้มข้น 0.02 เปอร์เซ็นต์ แต่สารเคมีทั้ง 3 ชนิดมีผลในการกระตุ้นให้เชื้อราสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อใช้สารเคมีที่มีความเข้มข้นสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบสารเคมีทั้ง 2 กลุ่ม พบว่าโซเดียมไบซัลไฟต์ มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญและการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินได้ดีที่สุด