บทคัดย่องานวิจัย

เทคนิคการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้น

กาญจนา สุวรรณสินธุ์

วิทยานิพนธ์ (วท.ม (พืชศาสตร์)) คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2536. 74 หน้า.

2536

บทคัดย่อ

เทคนิคการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อน       การศึกษาศักยภาพการเก็บรักษาและเทคนิคการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้น ทำโดยการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ นครสวรรค์ 1 และพันธุ์สุวรรณ 2 ในระหว่างเดือนมกราคม- พฤษภาคม 2534 ที่ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เร่งอายุเมล็ดพันธุ์โดยใช้อุณหภูมิ 3 ระดับ คือ 42, 43 และ 44 องศาเซลเซียส และเวลา 48, 72.และ 96 ชั่วโมง ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในถุงกระดาษและถุงพลาสติกที่อุณหภูมิห้องและห้องเย็นจนครบ 12 เดือน ผลการทดลองพบว่า เมล็ดพันธุ์นครสวรรค์ 1 และ พันธุ์สุวรรณ 2 มีความงอก 98.50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และมีความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ในรูปดัชนีความเร็วในการงอกเท่ากับ 22.89-23.63 น้ำหนักแห้งของต้นกล้า 64.10-76.84 มิลลิกรัมต่อต้น, ความยาวรากและยอดของต้นกล้าเท่ากับ 13.35-16.73 และ 9.03-10.21 เซนติเมตรต่อต้น ตามลำดับ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ความชื้น 7-8 เปอร์เซ็นต์ในถุงกระดาษที่อุณหภูมิห้อง ไม่ควรเก็บนานเกิน 6 เดือน และถ้าต้องการเก็บรักษานาน 12 เดือน ต้องเก็บในถุงพลาสติกหรือเก็บรักษาในห้องเย็น เพื่อให้เมล็ดพันธุ์มีความงอก 85 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป การเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเพื่อประเมินอายุการเก็บรักษาในเขตร้อนชื้นต้องใช้อุณหภูมิที่ 44 องศาเซลเซียส นาน 96 ชั่วโมง ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์