ผลของการชะลอการเก็บเกี่ยวภายหลังการสุกแก่ทางสรีรวิทยาที่มีต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวและลูกผสมสามทาง
วีรชัย ศรียี่สุ่น
วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) พืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 156 หน้า.
2540
บทคัดย่อ
ผลของการชะลอการเก็บเกี่ยวภายหลังการสุกแก่ทางสรีรวิทยาที่มีต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวและลูกผสมสามทาง
การศึกษาผลของการชะลอการเก็บเกี่ยวภายหลังการสุกแก่ทางสรีรวิทยาที่มีต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยว SX2 และลูกผสมสามทาง TX1 ได้ดำเนินการโดยการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมในฤดูฝนปี พ.ศ. 2535 ณ แปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมของบริษัทซีบาไกกี้ (ประเทศไทย) จำกัด อ. ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ เริ่มเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์เมื่อเมล็ดสุกแก่ทางสรีรวิทยาและทุกๆ 10 วัน จนกระทั่ง 60 วันหลังการ สุกแก่ทางสรีรวิทยา ผลการทดลองพบว่า การชะลอการเก็บเกี่ยวทำให้การหักล้มของต้นแม่ จำนวนผักเน่า และฝัดดัดทิ้งเพิ่มขึ้น เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวมีความงอก ความมีชีวิต และความแข็งแรงลดลงเด่นชัดกว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมสามทาง และปริมาณเชื้อราในเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวมีมากกว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมสามาทาง หลังจากเก็บเกี่ยวรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้นาน 7 เดือนที่อุณหภูมิห้อง แล้วนำไปปลูก ทดสอบในไร่ ในฤดูฝนปี พ.ศ. 2536 พบว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวที่ชะลอการเก็บเกี่ยว มีความงอกในไร่ลดลง เมื่อปลูกในไร่เกษตรกรโดยอาศัยน้ำฝน และมีผลทำให้ต้นข้าวโพดมีการเจริญเติบโตช้า เมื่อวัดจากความสูงและน้ำหนักแห้งการชะลอการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดผสมสามทางไม่มีผลต่อความงอกในไร่ ส่วนจำนวนวันออกไหมและจำนวนต้นที่ไม่ติดฝักไม่แตกต่าง กันเมื่อชะลอการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดทั้งสองพันธุ์และข้าวโพดที่ปลูกจากเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวและลูกผสมสามทางที่ชะลอการเก็บเกี่ยวมีผลผลิตลดลงเมื่อปลูกทดสอบในไร่เกษตรกรโดยอาศัยน้ำฝน ดังนั้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยว และลูกผสมสามทางนี้ควรเก็บเกี่ยวที่ระยะ 30 วัน และไม่เกิน 40 วันภายหลังการสุกแก่ทางสรีรวิทยา หากเก็บเกี่ยวล่าช้าไปกว่านี้เมล็ดพันธุ์จะมีคุณภาพต่ำมีผลทำให้ผลผลิตของข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวและลูกผสมสามทางลดลง