บทคัดย่องานวิจัย

การยืดอายุการเก็บเกี่ยวมะม่วงแก้วในเขตภาคเหนือตอนบน : วิธีการแนวทางเชิงระบบ

หทัย เฉื่อยฉ่ำ

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาเกษตรศาสตร์เชิงระบบ)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545. 103 หน้า.

2545

บทคัดย่อ

การยืดอายุการเก็บเกี่ยวมะม่วงแก้วในเขตภาคเหนือตอนบน วิธีการแนวทางเชิงระบบ มะม่วงแก้วเป็นไม้ผลที่สามารถปรับตัวได้ดีกับพื้นที่ดอนอาศัยน้ำฝนในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย แต่ปัญหาสำคัญของผู้ปลูกคือผลผลิตที่ได้มีระดับราคาต่ำ แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าววิธีหนึ่งคือ การยืดอายุการเก็บเกี่ยวออกไปให้เป็นมะม่วงบริโภคผลสดล่าฤดู การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาวิธียืดอายุการเก็บเกี่ยวมะม่วงแก้ว โดยอาศัยวิธีการแนวทางเชิงระบบ ประกอบด้วย การกำหนดกรอบพื้นที่เป้าหมาย การทำความเข้าใจปัญหาของเกษตรกรและระบบการปลูกมะม่วงแก้วในพื้นที่เป้าหมายภาคเหนือตอนบนโดยการสัมภาษณ์ การค้นหาสาเหตุเพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ตั้งสมมุติฐานแล้วนำไปทดสอบบนพื้นที่เป้าหมาย นำผลการทดลองที่ได้มาประเมินอย่างมีส่วนร่วมกับเกษตรกร ก่อนสรุปเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มเป้าหมาย ในส่วนของงานทดลองได้ทำกับมะม่วงแก้วอายุ 10 ปี ของเกษตรกรบนที่ดอนอาศัยน้ำฝน ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโครงการป่าจอมทอง กิ่ง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ วางแผนการทดลองแบบล็อกสุ่มสมบูรณ์ จำนวน 4 ซ้ำ แต่ละซ้ำได้มะม่วง 1 ต้น ประกอบด้วย 6 วิธีการทดลอง คือ ไม่ห่อผล ห่อผลที่อายุ 30, 40, 50 , 60 และ 70 วันหลังติดผลระยะผลิตถั่วเขียว

ผลการทำความเข้าใจปัญหาของเกษตรกรและระบบการปลูกมะม่วงแก้วในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนพบว่า ผู้ปลูกมะม่วงแก้วส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ปลูกมะม่วงแก้วทั้งลักษณะที่เป็นสวนและปลูกในสวนรอบบ้าน มะม่วงแก้วจุกเป็นกลุ่มใช้ปลูกที่สำคัญ พื้นที่สวนส่วนใหญ่มีลักษณะลาดชัน เป็นทีดอนไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติอาศัยเฉพาะน้ำฝน มีการดูแลจัดการสวนน้อยและใช้ปัจจัยการผลิตต่ำ มะม่วงแก้วติดผลไม่สม่ำเสมอทุกปี ที่เก็บเกี่ยวได้ส่วนใหญ่เป้นมะม่วงกลางถึงปลายฤดูตลาด สำหรับราคาที่ได้รับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2540 – 2542) อยู่ในระดับต่ำถึงปานกลางไม่เป็นที่พอใจ และเห็นว่าสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งคือมีช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวพร้อมกับสวนในภูมิภาคอื่น จึงต้องการที่จะปรับปรุงราคาของมะม่วงแก้ว โดยผลิตเป็นมะม่วงบริโภคผลสดล่าฤดู โดยอาศัยข้อได้เปรียบของภูมิภาคทีเป็นมะม่วงปลายฤดูอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ทราบวิธียืดอายุการเก็บเกี่ยวโดยการห่อผล และต้องการยืดวันเก็บเกี่ยวออกไปอย่างน้อย จนถึง 15 กรกฎาคม ของทุกปี

ผลการทดสอบเทคโนโลยีในแปลงพบว่า การห่อผลช่วยยืดอายุการเก็บเกี่ยวไปได้อีก 27 – 29 วัน การห่อที่ 30 – 70 วันหลังติดผลระยะเมล็ดถั่วเขียวยืดอายุได้ไม่ต่างกัน ผลดีที่ได้รับเพิ่มเติมจากการห่อผลเป็นส่วนของสีเปลือกและเนื้อ โดยความสว่างของสีเปลือกในผลแก่จัด เพิ่มจาก 40.0 เป็น 44.8 – 47.1 ความเข้มและความสว่างของสีเนื้อผลแก่จัดเพิ่มจาก 26.0 และ 48.0 เป็น 30.1 – 31.2 และ 53.8 – 61.0 ตามลำดับ กรดที่สามารถไท

เทรดได้ในผลแก่จัดมีแนวโน้มลดต่ำลงจาก 4.2 เหลือ 1.1 – 1.6 % ในผลสุกลดลงจาก 2.0 เหลือ 1.2 – 1.6 % ความเข้มและความสว่างของสีเปลือกผลสุกเพิ่มจาก 30.1 และ 43.2 เป็น 41.4 – 45.4 และ 55.3 – 58.3 ตามลำดับ ความสม่ำเสมอของสีผิวผลสุกเพิ่มจาก 75.7 เป็น 86.2 – 97.0 % แต่ที่พบว่าเป็นผลเสียจากการห่อผลได้แก่ ค่าองศาสีของเปลือกผลแก่จัดและผลสุกลดลงจาก 110.1 และ 102.3 เป็น 107.0 – 108.0 และ 67.7 – 80.9 ตามลำดับ และความแน่นเนื้อในผลสุกลดลงจาก 2.0 เหลือ 1.2- 1.4 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร สำหรับเวลา การห่อผลที่ประเมินร่วมกับเกษตรกร พบว่า ระยะไข่ไก่เหมาะสมที่สุด เพราะห่อได้สะดวก และเป็นช่วงที่มีการร่วงของผลน้อยมากแล้ว ทำให้ไม่เสียเวลาห่อ อย่างไรก็ตามการห่อที่ช่วยยืดอายุออกไปจนถึง 6 – 11 มิถุนายนนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าซึ่งต้องการ 15 กรกฎาคม เป็นอย่างน้อย ความสำเร็จยังอาจจะต้องอาศัยวิธีการแบบบูรณาการ โดยหาพื้นที่จำเพาะและหาเทคนิคอื่นมาประกอบ