ผลของสารถนอมอาหารและสารเคลือบผิวที่รับประทานได้ต่อคุณภาพของผลลำไยพันธุ์ดอหลังการเก็บเกี่ยว
ปิยจิตรา ศรีวรกุล
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545. 229 หน้า.
2545
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของสารฆ่าเชื้อที่ผิวผลโดยใช้สารละลาย calcium propionate 200 ppm, methyl paraben 1000 ppm, propionic acid 2000 ppm, sodium metabisulfite 50 ppm, sorbic acid 500 ppm และ sodium propionate 2000 ppm. เป็นระยะเวลา 5, 10 หรือ 15 นาที พบว่าทุกกรรมวิธีสามารถป้องกันการเกิดโรคที่ผลลำไยได้ตลอดอายุการเก็บรักษา แต่จากการประเมินคุณภาพของด้านประสาทสัมผัส พบว่าผู้บริโภคยอมรับผลลำไยที่ผ่านการแช่ในสารละลาย sorbic acid มากที่สุดและวิธีนี้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสีน้ำตาลของเปลือกนอกช้ากว่าทุกกรรมวิธี
การใช้สารฟอกสีร่วมกับสารฆ่าเชื้อที่ดีที่สุดจากการทดลองข้างต้น ได้แก่สารละลาย ammonium chloride 600 ppm ร่วมกับ sorbic acid 500 ppm พบว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้ ammonium chloride หรือ sorbic acid เพียงอย่างเดียว และสามารถชะลอการเกิดสีน้ำตาลที่เปลือกผลดีที่สุด
การศึกษาผลของสารเคลือบผิวผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและอายุการเก็บรักษาผลลำไยโดยใช้สารละลาย sodium carboxy methyl cellulose หรือ carageenan ความเข้มข้น 1, 2, 3, 4 และ 5 เปอร์เซ็นต์ พบว่ากรรมวิธีที่ดีที่สุดคือการเคลือบผลด้วยสารละลาย sodium carboxy methyl cellulose ความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ โดยสามารถลดการสูญเสียน้ำได้ดีกว่ากรรมวิธีอื่นๆ
เมื่อนำสารที่ให้ผลดีที่สุดในการฟอกสี ฆ่าเชื้อ และเคลือบผลลำไยได้แก่การแช่ผลในสารละลายที่ประกอบด้วย ammonium chloride 600 ppm, sorbic acid 500 ppm เป็นเวลา 5 นาทีหรือเคลือบผลด้วย sodium carboxy methyl cellulose 1 เปอร์เซ็นต์ เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกันเปรียบเทียบกับชุดควบคุมซึ่งได้แก่ผลลำไยที่ผ่านการแช่น้ำหรือสารละลาย sodium metabisulfite 50 ppm พบว่าทุกกรรมวิธีที่ผ่านมาการเคลือบผิวด้วย sodium carboxy methyl cellulose ความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถช่วยยึดอายุการเก็บรักษา การเปลี่ยนแปลงสีเปลือก และการเกิดโรคของผลลำไยได้ ขณะที่การแช่ผลลำไยในสารละลาย ammonium chloride ร่วมกับ sorbic acid โดยไม่ผ่านการเคลือบผิวเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยยืดอายุการเก็บรักษา (14 วัน) การเปลี่ยนแปลงสีเปลือกผลและการเกิดโรคของผลลำไย