บทคัดย่องานวิจัย

การควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas solanacearum โดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ต่อต้านโรค

กาญจนา วิชิตตระกูลถาวร

วิทยานิพนธ์ มหาบัณฑิต สาขาโรคพืช มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 97 หน้า

2542

บทคัดย่อ

การควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas solanacearum โดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ต่อต้านโรค จากการแยกแบคทีเรียสาเหตุโรคเหี่ยวของพืชตระกูลมะเขือ จำนวน 3 ชนิด จากอำเภอแม่ริม ,สะเมิง, และเชียงดาว พบแบคทีเรีย Pseudomonas solanacearum จำนวน 8 ไอโซเลท จากนั้นนำแบคทีเรียทั้ง 8 ไอโซเลท มาทดสอบความสามารถในการทำให้เกิดโรคเหี่ยวในมะเขือเทศโดยการตัดปลายรากมะเขือเทศแช่ใน suspension ของเชื้อสาเหตุที่ความเข้มข้น 3x108 cfu/ml เป็นเวลา 30 นาที ก่อนการย้ายปลูก พบว่าแบคทีเรียไอโซเลทที่ 8 ที่แยกได้จากมะเขือเทศอำเภอแม่ริม มีความสามารถในการทำให้เกิดโรคเหี่ยวสูงสุด และจากการทดสอบความสามารถในการต้านทานโรคเหี่ยวของมะเขือเทศ จำนวน 8 พันธุ์ พบว่า Sweetic Peto Seed, Red Sweet K.N., Pep. T.K., Sweet Kanako, Santa #0392, Master No.2 T.K., Taiwan และ Royesta R.S. อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของแบคทีเรียสาเหตุโรคเหี่ยว (Ps.8) จากการแยกเชื้อจุลินทรีย์ต่อต้านโรคจากดิน 6 แหล่ง คือ อำเภอแม่ริม (ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย) อำเภอแม่แตง (ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง แม่หลอด) อำเภอหางดง (ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา) อำเภอเชียงดาว (ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก) และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย (ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง) โดยวิธี Dilution Plate บนอาหาร 3 ชนิด คือ Potato Dextose Agar, Nutrien Agarและ King's Medium B ที่ความเข้มข้น 10-3, 10-4 และ 10-5 เป็นเวลา 3 วัน พบแบคทีเรียและเชื้อราจำนวน 165 ไอโซเลท จากนั้นนำเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้มาทดสอบความสามารถในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียP. solanacearum (Ps.8) ในห้องปฏิบัติการ โดยวิธี Disc Diffusion บนอาหาร NA เป็นเวลา 3 วัน พบแบคทีเรียจำนวน 40 ไอโซเลทที่มีความสามารถในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียสาเหตุโรคเหี่ยวได้ ในจำนวนนี้มี 3 ไอโซเลทที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งสูงสุด คือ RH 14, RH 19 และ RH 39 ซึ่งมีความกว้างของ clear zone 2.11, 2.45 และ 2.21 ตามลำดับ จากนั้นนำแบคทีเรียดังกล่าวมากบ่งบอกชนิดโดยการวิเคราะห์แบบ API (Automatic Product Identification) พบว่า ไอโซเลท RH 14 คือ Bacillus cereus, ไอโซเลท RH 19 คือ Pseudomonas aeruginosa และ ไอโซเลท RH 39 คือ P. putida และเมื่อนำแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิดมาทดสอบความสามารถในการควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศพันธุ์ Pep.T.K. และวิธีการใช้เชื้อจุลินทรีย์ต่อต้านโรคในสภาพเรือนทดลอง โดยแบ่งเป็น 8 กรรมวิธี คือ 1. การแช่รากมะเขือเทศในเชื้อจุลินทรีย์ต่อต้านโรคแต่ละชนิด 30 นาทีก่อนการปลูกเชื้อสาเหตุ 2. การแช่รากมะเขือเทศในเชื้อจุลินทรีย์ต่อต้านโรคแต่ละชนิด 30 นาทีหลังการปลูกเชื้อสาเหตุ 3. การแช่รากมะเขือเทศในเชื้อจุลินทรีย์ต่อต้านโรคแต่ละชนิดร่วมกับเชื้อสาเหตุ 30 นาที 4.ราดเชื้อจุลินทรีย์ต่อต้านโรคแต่ละชนิด 30 มล./ต้น ลงในวัสดุปลูก 3 วัน ก่อนการปลูกเชื้อสาเหตุ 5.การแช่เมล็ดลงในเชื้อจุลินทรีย์ต่อต้านโรคแต่ละชนิด 30 นาทีก่อนการปลูกเชื้อสาเหตุ 6. การแช่รากมะเขือเทศลงในเชื้อจุลินทรีย์ต่อต้านโรคแต่ละชนิด 30 นาที 7. การแช่รากมะเขือเทศในเชื้อสาเหตุ 30 นาที 8. การแช่รากในน้ำกลั่น (ชุดควบคุม) พบว่าแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิด สามารถชะลอการเกิดโรคและลดเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเหี่ยวลงได้ในทุกกรรมวิธี เมื่อเทียบกับกรรมวิธีการปลูกเชื้อสาเหตุเพียงอย่างเดียว ในขณะที่เมื่อทำการทดสอบในสภาพแปลงปลูก โดยแบ่งเป็น 5 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีที่ 1.แช่รากมะเขือเทศในเชื้อ B. cereus 30 นาที ก่อนการย้ายปลูกและราด suspension ของเชื้อดังกล่าว 30 มล./ต้น หลังย้ายปลูก ส่วนกรรมวิธีที่ 2 และ 3 ทำในทำนองเดียวกัน ต่างกันเฉพาะชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ต่อต้านโรคที่ใช้ โดยกรรมวิธีที่ 2 ใช้ P. aeruginosa กรรมวิธี 3 ใช้ P. putida กรรมวิธีที่ 4 ใช้ suspension ผสมแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิดร่วมกัน และกรรมวิธีที่5 คือ ชุดควบคุม พบว่าการใช้เชื้อB. cereus และ suspension ผสมแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิด สามารถลดเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคเหี่ยวลงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติกับชุดควบคุม