เทคโนโลยีการอบแห้งลำใยและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
ทองวัน ปัญญาแก้ว
วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เกษตรศาสตร์ (สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 67 หน้า
2541
บทคัดย่อ
เทคโนโลยีการอบแห้งลำใยและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
การศึกษาเทคโนโลยีการอบแห้งลำไยและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตกร อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคโนโลยีการอบแห้งลำไย และต้นทุนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของการอบแห้งลำไย ตลอดจนศึกษาสภาพปัญหาอุปสรรคของการอบแห้งลำไย ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จำนวน 9 กลุ่ม 148 ราย เก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสัมภาษณ์วิเคราะห์ขอมูลโดยใช้สถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่ใช้ลำไยพันธุ์ดอในการอบแห้ง มีเพียงบางส่วนที่ใช้ลำไยพันธุ์แห้ว โดยเฉพาะพันธุ์แห้วจะมีการนำมาใช้อบแห้ง ช่วงหลังจากที่ลำไยพันธุ์ดอใกล้หมดหรือหมดแล้วสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตกรทั้งหมดใช้เตาอบแบบกระบะบรรจุลำไยผลสด จำนวน 2,000 กิโลกรัม แบ่งการบรรจุลำไยผลสดออกเป็น 3 ชั้น มีตาข่ายรองรับใน แต่ละชั้นใช้อุณหภูมิในการอบ 2 ระดับ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ใช้อุณหภูมิที่ระดับ 60-80 องศาเซลเซียส ในระยะเวลา 48 ชั่วโมง มีการพลิกกลับ 2 ครั้ง เพื่อให้แห้งสม่ำเสมอ มีการคัดเกรดโดยใช้เครื่องร่อนก่อนการจำหน่าย แบ่งเกรดออกเป็น 4 ขนาด คือ AA, A, B และ C ต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในการอบแห้งลำไย มีการลงทุนในการอบแห้งต่อเตาต่อครั้งเฉลี่ย 37,827 บาท สามารถจำหน่ายลำไยอบแห้งต่อเตาต่อครั้งเฉลี่ย 41,640 บาท จะมีผล กำไรจากการจำหน่ายลำไยอบแห้งต่อเตาต่อครั้งเฉลี่ย 3,813 บาท และโดยเฉลี่ยมีการอบแห้ง 13 ครั้งต่อปีต่อเตา จึงสามารถมีกำไรต่อปีต่อเตาเฉลี่ย 49,569 บาท การศึกษาสภาพปัญหาอุปสรรคในการอบแห้งลำไยพบว่า ปัญหาสำคัญคือขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการอบแห้งลำไย พ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคาคุณภาพและเกรดจึงทำให้ผู้ผลิตเสียเปรียบ ส่วนข้อเสนอแนะในการวิจัย สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรควรให้ความสำคัญของการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับพ่อค้าและขอรับการสนับสนุนด้านความรู้ ปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ตลอดจนเงินทุนหมุนเวียนและการตลาด