บทคัดย่องานวิจัย

ผลของเตาอบต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมแปรรูปลำไยอบแห้งขนาดย่อม

นัทธียา หวั่นท๊อก

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร)) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 146 หน้า.

2544

บทคัดย่อ

ผลของเตาอบต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมแปรรูปลำไยอบแห้งขนาดย่อม เนื่องจากปัญหาผลผลิตลำไยสดล้นตลาดจากการค้นพบสารเคมีที่กระตุ้นการออกดอกของลำไยและการเพิ่มพื้นที่ปลูกลำไยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การนำเอาผลผลิตเหล่านี้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่เนื่องจากในการแปรรูปลำไยอบแห้งมีเทคโนโลยีหลายรูปแบบ เช่น ประเภทของเตาอบ ทำให้ผู้ลงทุนเกิดความสับสนว่าควรจะใช้เทคโนโลยีแบบใด ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลการใช้เตาอบลำไยแบบต่างๆโดยทำการศึกษาถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการเลือกใช้เตาอบลำไยและวิเคราะห์ต้นทุนผลตอบแทนทางการเงินของเตาอบลำไยแต่ละแบบ รวมทั้งศึกษาผลกระทบของเตาอบที่มีต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการแปรรูปลำไยอบแห้งขนาดย่อมโดยข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาเป็นข้อมูลปฐมภูมิที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปลำไยอบแห้งขนาดย่อมซึ่งใช้เตาอบลำไยแบบเตากระบะที่ใช้น้ำมันโซล่าเป็นเชื้อเพลิงของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนในปีการผลิต 2543 จำนวน 133 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการใช้เตาอบแบบเตากระบะที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงและเตากระบะที่ใช้น้ำมันโซล่าเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 61 ราย ผลการศึกษาปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการเลือกใช้เตาอบลำไย โดยอาศัยการประมาณแบบจำลอง logit พบว่า ปัจจัยขนาดของการลงทุน ตัวแปรหุ่นการได้รับสินเชื่อ ระดับการศึกษา ตัวแปรหุ่นความสะดวกในการหาเชื้อเพลิง ประสบการณ์ในอาชีพและอายุของผู้ประกอบการ มีผลต่อการเลือกใช้เตาอบลำไยแบบเตากระบะที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงและมีผลกระทบทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเลือกใช้เตากระบะที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงมากที่สุดคือ ตัวแปรหุ่นความสะดวกในการหาแหล่งเชื้อเพลิง เนื่องจากน้ำมันโซล่าสามารถหาซื้อได้ง่ายตามสถานีบริการน้ำมันที่มีอยู่ทั่วไป และในปีการผลิต 2543 ความต้องการในการใช้แก๊สมีมากกว่าน้ำมันโซล่า เนื่องจากน้ำมันโซล่ามีราคาแพงกว่าแก๊สจึงทำให้เกิดการขาดแคลนแก๊สขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการเผชิญกับปัญหาการหาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิต จึงเลือกใช้เตากระบะที่ใช้น้ำมันโซล่าเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้คือสมมุติฐานที่หก ผลการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนทางการเงินของอุตสาหกรรมแปรรูปลำไยอบแห้งขนาดย่อมที่แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 โครงการตามประเภทของเตาอบลำไยที่ผู้ประกอบการใช้โดยพิจารณาจากมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) และอัตราส่วนรายได้ต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปีพบว่า โครงการทั้งสองมีความเป็นไปได้ในการลงทุน เนื่องจากมูลค่าปัจจุบันสุทธิของทั้งสองโครงการมีค่ามากกว่า 0 และอัตราส่วนรายได้ต่อค่าใช้จ่ายมีค่ามากกว่า 1 นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ความไหวตัวแสดงให้เห็นว่า ในกรณีที่ใช้เตากระบะแบบใช้น้ำมันโซล่าเป็นเชื้อเพลิงจะมีความทนต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5, 10 และ 15 และรายได้ที่ลดลงร้อยละ 5 และ 10 ส่วนกรณีที่ใช้เตากระบะแบบใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงมีความทนต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5, 10, 15 และ 20 และรายได้ที่ลดลงร้อยละ 5, 10 และ 15 นอกจากนั้นเมื่อกำหนดให้อัตราคิดลดหรืออัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 5, 10, 15 และ 20 พบว่าทั้งสองโครงการมีความเป็นไปได้ในการลงทุน ผลการศึกษาประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมแปรรูปลำไยอบแห้งขนาดย่อมของผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่ม ซึ่งอาศัยการประมาณสมการกำไรมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์พบว่า ผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่มมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจเท่ากัน และมีประสิทธิภาพทางด้านราคาของการใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นวัตถุดิบ(ลำไยสด)เท่ากัน แต่มีประสิทธิภาพทางด้านราคาของการใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นเชื้อเพลิงไม่เท่ากัน ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มที่ใช้เตากระบะแบบใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงทำการผลิต ณ จุดที่ได้กำไรสูงสุดจากการใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นวัตถุดิบ(ลำไยสด)และปัจจัยการผลิตเชื้อเพลิง แต่ผู้ประกอบการที่ใช้เตากระบะแบบใช้น้ำมันโซล่าเป็นเชื้อเพลิงกลับไม่ได้ใช้ปัจจัยการผลิตวัตถุดิบ(ลำไยสด)และปัจจัยการผลิตเชื้อเพลิงทำการผลิต ณ จุดที่ได้กำไรสูงสุด ทั้งนี้เพราะได้ทำการผลิต ณ จุดที่มูลค่าของผลผลิตส่วนเพิ่มที่ได้รับจากการใช้ปัจจัยการผลิตวัตถุดิบ(ลำไยสด)และราคาของปัจจัยการผลิตเชื้อเพลิง